Dr. Duangwan Bunnag Education and Child Development Expert and founder of Phonics 1st
Everyone dreams of having a good life. But what exactly is a good life? The definition of the good life has been discussed and debated by great minds since ancient times. It is looked at from both mundane and philosophical perspectives.
For most people, a good life constitutes that all basic needs are met; good foods, good drinks, a warm bed, a safe place to sleep, and enough money to buy what they want. For many, comfort and luxury are nothing without morality and meaning. Some view freedom from all worries and obligations as the golden rule of ‘good’. Others only feel their life is good when in partnership with someone or when they have children.
There is one concensus. A good life should at least generate good feelings, as it entails happiness. However, the concept of happiness and goodness is subjective, depending on each person’s life experience and personality.
For Ms Duangwan Bunnag, an education and child development expert and owner of Phonics 1st, a tutoring English school for children aged 2-12 years, her life can only be described as perfect.
Born into a Thai noble family, Ms Duangwan grew up with privileges since childhood. At 25, she graduated with a doctorate degree in Early Childhood Education from the University of Illinois at UrbanaChampaign, USA, and returned to work as a top executive at a leading kindergarten school overseeing both the management and curriculum parts.
After three years at the school, she moved on to work with 4-5 other schools as an advisor or a principal before launching Phonics 1st in order to have more time with her family, particularly her two young daughters. Life was smooth and everything was under control. In spite of it all, Ms Duangwan felt a void inside her heart.
“For a long time, I had this feeling deep in my mind. It’s a question on why I’ve never felt anything to the fullest. Although my life doesn’t have any serious problems, happiness doesn’t make me feel happy… it’s like something is missing,” she explains.
When we mentioned about the joy of happy marriage and perfect family, Ms Duangwan said that part definitely fulfilled her life but then “that ecstatic joy slowly ebbed to the level it is now a part of life that comes with a lot of responsibilities. The happiness isn’t there all the time,” she says, adding that the ebb and flow also apply with other things.
“It’s the same with any other happy feelings. For example, when I saw a photo of a new place, I really wanted to go there, but the excitement waned after a few days of sightseeing.”
Her understanding about the half-hearted feelings has also become clearer since she has begun a serious Vipassana meditation. When I looked back at my life, I came to realize nothing is permanent in the world. More importantly, the insight has helped convinced her what true happiness is.
“Happiness, in my definition, is the feeling that I have when I do something useful for others. It’s the only thing that makes me fully happy whenever I think about it and encourages me to give more and more in every way I can. No wonder why many people love to volunteer.”
For her, having a great life is not the end of the journey, but the beginning of deeper realization of what really matters in life. “A good life doesn’t mean a life in luxury and comfort or a life lived to the fullest, but a life with meaning and purpose for the well-being of others.”
ชีวิตที่ดีในนิยามของ ดร. ดวงวรรณ บุนนาค ( ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและพัฒนาการเด็ก และ ผู้ก่อตั้งสถาบันสอนภาษาโฟนิคส์ เฟริสท์ )
ถ้านิยามของ ‘ชีวิตดี๊ดี’ คือการมีชีวิตที่แสนสุขสบาย สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทรัพย์สมบัติที่เหลือเฟือ อยากได้สิ่งใดก็ได้มาโดยราบรื่น ทุกย่างก้าวของชีวิตรายล้อมไปด้วยสิ่งของและเรื่องราวที่ทำให้มีแต่ความสุข ชีวิตของ ดร.ดวงวรรณ บุนนาค (คุณครูเดียร์) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการพัฒนาเด็ก และผู้ก่อตั้งสถาบันสอนภาษาโฟนิกส์ เฟิสท์ ก็เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ดี๊ดี ซึ่งไม่เพียงแต่ดี๊ดีตามนิยามข้างต้น แต่ยังมาพร้อมกับรูปสมบัติ ครอบครัวที่อบอุ่น วงศ์ตระกูลอันเก่าแก่ และชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ แต่กระนั้น ในส่วนลึกๆ ของเธอกลับรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปบางอย่าง
ตั้งแต่ยังเยาว์วัย คุณครูเดียร์มักตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตเสมอ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ทุกอย่างในชีวิต ทั้งสิ่งที่ตนเองได้ทำ แม้แต่ความดีงามและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เมื่อไปสุดทางตามที่ควรแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะความสุขต่างๆ ความภาคภูมิใจในความสำเร็จ เมื่อมาแล้วก็อยู่ได้ชั่วครู่ก่อนจะจางหายไป ทำให้มักคอยมองหาสิ่งใหม่ๆ ทำต่อไป เธอจึงไม่เคยรู้สึกถึงชีวิตที่เติมเต็มหรือสุขจริงเลยสักครั้ง จนกระทั่งเธอได้ค้นพบการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ตั้งแต่นั้นมาคุณครูเดียร์ก็ได้เรียนรู้การอยู่กับตนเอง คอยเฝ้าดูจิตที่กระเพื่อมไปมาและการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างช้าๆ เธอเริ่มตระหนักว่าเป้าหมายสูงสุดของการมาเกิดคืออะไร และมนุษย์ควรดำเนินชีวิตไปทางไหน ท้ายที่สุดจุดหมายปลายทางคืออะไร ผลจากธรรมะของพระพุทธองค์ทำให้เธอเรียนรู้ที่จะวางจิตให้ถูกต้องพร้อมกับจิตที่อิ่มเอมในธรรม
พี่เป็นเด็กเรียนดีมาตลอดตั้งแต่ประถมเลยหรือเปล่าคะ
ไม่เลยค่ะ จริงๆ แล้วสมัยเด็กพี่ไม่ชอบเรียนหนังสือเลยต่างหาก และคะแนนสอบแต่ละครั้งก็ไม่ดีเลย ในขณะที่ญาติพี่น้องเรียนเก่งกันทุกคน แต่พี่โชคดีที่ค้นพบตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ รู้ว่าชอบด้านเด็ก มีความสนใจและมีความสุขที่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับเด็ก จึงได้เลือกเรียนด้านนี้มาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ด้านการศึกษาปฐมวัย ชีวิตการเรียนรู้พลิกเป็นอีกด้าน มีเป้าหมายชัดเจนที่จะไปศึกษาต่อ ไปเรียนรู้ในสิ่งที่เราสนใจ จึงสมัครไปเรียนต่อระดับปริญญาโท และก็เรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านการศึกษา หลักสูตรการสอนเน้นด้านการศึกษาปฐมวัย ที่ UIUC หรือ University of Illinois at Urbana-Champaign
พี่เป็นคนที่ค่อนข้างเรียนรู้เร็ว มีความมุ่งมั่นสูง มีเป้าหมายตั้งแต่เด็ก มีความเป็นที่หนึ่ง อยากประสบความสำเร็จสูงมาก ทำอะไรก็จะมุ่งมั่นและมักจะสำเร็จ ตอนอยู่ชั้นมัธยม 5 ก็สอบเทียบเข้าจุฬาฯ ตอนนั้นอายุ 15 ปี ต่อมาเรียนจบปริญญาตรี ได้รับเกียรตินิยมตอนอายุ 19 ปี หลังจากนั้นได้เดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทตอนอายุ 20 ปี ที่มหาวิทยาลัย UIUC ซึ่งติดอันดับท็อปเทนของประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงนั้นผลการเรียนค่อนข้างดีมาก ก็เลยได้รับการเสนอทุนจากทางมหาวิทยาลัยให้เรียนต่อระดับปริญญาเอก พี่จึงมีโอกาสได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดิมจนจบปริญญาเอกตอนอายุ 25 ปี ชีวิตการเรียนของพี่นับว่าราบรื่นไปได้ด้วยดีค่ะ
จากประวัติการทำงาน คือเข้ามาทำงานในตำแหน่งซีเนียร์เลย
ใช่ค่ะ ทุกอย่างคือเรียบง่ายมาก กลับมาถึงเมืองไทยก็ถูกทาบทามให้มาทำงานที่โรงเรียนอนุบาลอินเตอร์คิดดี้แคร์ อินเตอร์เนชันแนลสกูล เริ่มต้นอาชีพในตำแหน่งที่สูงสุดในองค์กร การบริหารงานเป็นที่ยอมรับ ผู้ปกครองเชื่อถือไว้วางใจ เพราะมีความรู้ลึก บริหารจัดการเก่ง ให้คำปรึกษาที่ดีกับทุกฝ่าย ในช่วงที่พี่บริหารงานนั้น มีเด็กเข้ามาเรียนเต็มทุกชั้นเรียน เจ้าของโรงเรียนมีความสุขมากค่ะ ทำรายได้ได้สูงทีเดียว
ทำงานอยู่ 3 ปีก็มีนักลงทุนมาทาบทามให้ไปช่วยก่อตั้งโรงเรียนอนุบาล โดยมีแต่ที่ดินและเงินทุนมาให้ โจทย์ตอนนั้นคือต้องการสร้างโรงเรียนอนุบาลที่คุณภาพสูง เน้นภาษาอังกฤษ และมีหลักสูตรทางเลือกที่ดีให้กับผู้ปกครอง งานของพี่คือเริ่มตั้งแต่ออกแบบ วางแผนโครงสร้าง ระบบ หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ทีมงาน และการตลาด จนเปิดดำเนินการได้สำเร็จ พี่ถูกดึงตัวออกมาเป็นผู้อำนวยการบริหารโรงเรียนจนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง และดำเนินการได้อย่างมั่นคง พี่มีโอกาสทำงานลักษณะนี้ทั้งในฐานะเป็นที่ปรึกษา และบางแห่งลงมือบริหารงานเองทั้งระบบมา 4-5 โรงเรียน ทั้งระบบอินเตอร์และสองภาษาค่ะ
ในช่วงหลังพี่ค่อนข้างอิ่มตัวกับชีวิตการทำงาน จึงค่อยๆ ถอยออกมาเรื่อยๆ ไม่ได้ทำงานเต็มเวลามา 10 ปีแล้ว เป็นแค่ที่ปรึกษาให้กับโรงเรียน และมาทำสถาบันสอนภาษาอังกฤษของตัวเอง ชื่อ Phonics 1st (โฟนิกส์ เฟิร์สท์) สอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก 2-12 ปี เน้นการสื่อสาร การออกเสียงภาษาอังกฤษ และอ่านเขียนอย่างถูกวิธี ปัจจุบันมีหลายสาขา เป็นสถาบันสอนภาษาอังกฤษอันดับต้นๆ ที่นับว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จมากค่ะ เป็นอะไรที่ลงตัวกว่าการทำโรงเรียน เพราะว่าความรับผิดชอบและรายละเอียดค่อนข้างน้อยกว่า แต่ได้คิดอะไรใหม่ๆ อย่างเป็นอิสระ และจัดการเวลาได้ดีกว่ามากค่ะ
มีปัญหาพนักงานไม่ยอมรับหรือไม่คะ กับการที่อายุน้อยและไม่มีประสบการณ์ แต่เข้ามารับตำแหน่งระดับสูงเลย
มีแน่นอนค่ะ ตอนนั้นเมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทยมีแต่คนชื่นชมว่าเรียนเก่ง เป็น ดร.ที่อายุน้อย มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาทาบทาม ชักชวนไปเป็นอาจารย์ แต่ด้วยความที่รักอิสระและไม่อยากทำงานภายใต้ระบบที่เคร่งครัดมาก พี่จึงเลือกรับงานที่โรงเรียนอนุบาลอินเตอร์แห่งหนึ่งในตำแหน่งครูใหญ่ที่เรียกกันในสมัยนั้น หรือผู้อำนวยการโรงเรียนในสมัยนี้ แต่เพราะครูที่โรงเรียนส่วนใหญ่อายุมากกว่าเราและเป็นชาวต่างชาติ แถมสำเนียงส่วนใหญ่จะเป็นบริติช ซึ่งเรานั้นชินกับสำเนียงอเมริกัน แรกๆ ก็ฟังไม่ค่อยออก ต้องพยายามปรับตัวมากๆ แต่ตัวพี่เองมีนิสัยอย่างหนึ่งคือ เวลาทำอะไรนั้นมักจะจดจ่อกับมันอย่างเต็มที่ ทุ่มเทและอยู่กับงานที่ทำจนสำเร็จ เรียกว่าหมกมุ่นเลยก็ว่าได้ และเพราะเป็นพวกนิยมความสมบูรณ์แบบ เวลางานออกมาก็ดีอย่างที่คาดหวังจริงๆ เลยได้รับการยอมรับในที่สุด
ชีวิตที่ผ่านมาคือเดินตามกรอบมาตลอด เคยลองใช้ชีวิตหลุดออกจากกรอบบ้างหรือไม่
ที่จริงแล้วตอนเด็กๆ พี่เป็นคนแอนตี้ระบบการศึกษาไทยมากนะคะ รู้สึกว่าระบบการศึกษาไทยไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและค้นพบตัวตนหรือความสามารถที่แท้จริงของเด็ก ครูเป็นศูนย์กลาง และเด็กมีหน้าที่ท่องจำ ทำตาม ไม่มีพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์เลย เรียนเพื่อสอบ ไม่ได้เรียนเพื่อรู้ สอบเพื่อแข่งขัน แล้วแข่งขันไปเพื่ออะไร ตอนนั้นพี่มีแต่คำถาม ก็เลยแสดงออกด้วยการไม่สนใจการเรียน ไม่ยอมเรียนหนังสือ คุณพ่อคุณแม่พี่ถูกคุณครูเชิญมาพบบ่อยมากเลยค่ะ (หัวเราะ) แปลกแยกจากญาติพี่น้องในวงศ์ตระกูล ซึ่งทุกคนเรียนหนังสือกันเก่งมาก แล้วก็จบด้วยการสอบเทียบ คือไม่เรียนเอาจริงๆ เลย เกเรมากกกกกกเลยค่ะ ทุกวันไปโรงเรียนก็เพื่อไปเล่นกับเพื่อน
พอเริ่มเข้ามหาลัย เริ่มรู้แล้วว่าเราชอบเด็ก มีวิชาที่เราสนใจ เช่น จิตวิทยา พัฒนาการเด็ก เลยจบเกียรตินิยมมาด้วย GPA 3.6 ญาติพี่น้องเริ่มยอมรับ พอจบปริญญาเอกก็เลยได้กลับเข้าสมาคม เป็นที่ยอมรับของวงศ์ตระกูลแล้วค่ะ (หัวเราะ) เพราะคนในตระกูลพี่มาสายวิชาการกันทั้งนั้น แล้วตระกูลพี่เป็นตระกูลเก่า พี่ก็เลยถูกเลี้ยงดูมาท่ามกลางวิถีไทยแบบโบราณ อยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีตลอด เมื่อได้ไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองช่วงที่ไปอยู่เมืองนอก 6 ปี เลยใจแตกสิคะ (หัวเราะ)
ชีวิตช่วงนั้นเต็มที่เกินคุ้ม สนุกสนานมาก ทั้งเรียน ทั้งเที่ยว ทั้งปาร์ตี้หนักมาก เรียกได้ว่าประสบการณ์ชีวิตครบครันในทุกด้าน แต่เดชะบุญจริงๆ เหมือนชีวิตพี่คงอยู่ในข่ายของบุญและมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองมาตลอด สมัยนั้นเราเป็นสาวเปรี้ยวจี๊ดเลยนะ ก็พยายามมาก (ลากเสียงยาว) หัดสูบบุหรี่เพราะคิดว่ามันเท่ แต่ฝึกเท่าไหร่ก็ไม่ได้ เหล้าก็อยากดื่มให้เก่ง แต่จิบไปนิดเดียวหน้าแดง เวียนหัว ทำอะไรต่อไม่ได้เลย ก็เลยเลือกที่จะไม่ดื่ม เพราะกลัวว่าจะไม่สนุก
เพราะอย่างนั้นก็เลยเชื่อเรื่องบุญบาปมาตั้งแต่เด็ก
ธรรมะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ที่บ้าน คุณพ่อ คุณอา สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นและปฏิบัติภาวนาเป็นประจำทุกวัน เข้าห้องพระครั้งละเป็นชั่วโมง ภาพที่เห็นผู้ใหญ่ที่บ้านสวดมนต์ นั่งสมาธิ ปฏิบัติวิปัสสนา เป็นสิ่งคุ้นชิน ทุกวันอาทิตย์คุณพ่อจะพาครอบครัวไปเข้าวัดปฏิบัติธรรม พี่จึงถูกปลูกฝังด้านคุณธรรมศีลธรรมมาตั้งแต่ยังเล็ก แม้ไม่ได้มีครูบาอาจารย์ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่น่าจะได้รับการซึมซับ หล่อหลอมมาแบบไม่รู้ตัว มานึกย้อนดูแล้ว พี่นับว่าเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวและกลุ่มเพื่อนสนิทที่ล้วนมุ่งมั่นในเส้นทางธรรม
สำหรับตัวพี่เองได้มีโอกาสไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมจริงจังครั้งแรกเมื่อจบปริญญาเอกกลับมา เพื่อนๆ ในกลุ่มที่สนิทกันหลายคนปฏิบัติธรรมเป็นประจำที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า พี่ก็เลยสนใจสมัครเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม 10 วันบ้าง ไปอยู่ประมาณ 3 คอร์สทุก 1-2 ปี พี่รู้สึกเหมือนได้เข้าไปสัมผัสถึงความสงบจากภายในที่แท้จริง ได้ให้เวลากับตัวเอง ไปชาร์จพลัง ไปพักจิตใจ จบออกมาจากคอร์สทุกครั้งก็จะรู้สึกโล่งสบาย สดชื่น พลังชีวิตเต็ม พร้อมกลับไปทำงานต่อได้
เป็นเหตุผลที่ต่างจากคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาทางธรรมเพราะหาทางออกจากความทุกข์ไม่เจอ
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าวัดปฏิบัติธรรมเพราะทุกข์ เจ็บป่วย มีเรื่องร้อนใจ หาทางออกไม่ได้ ต้องการที่พึ่ง แต่สำหรับพี่ตอนนั้นไม่ได้มีทุกข์ร้อน ชีวิตเพียบพร้อม ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถูกดึงดูดด้วยพลังงานบางอย่าง อยากเข้าไปสัมผัส ต้องการเข้าไปอยู่ในกระแสพลังงานนั้น และปกติพี่เป็นคนชอบทำบุญทำทานอยู่แล้ว ทำเป็นประจำ เพราะทำแล้วมีความสุข ชีวิตก็เลยไม่เคยหลุดออกไปไกลนอกเส้นทางธรรม พอดีช่วงปี 2558 มีกลุ่มกัลยาณมิตรแนะนำให้พี่ได้มีโอกาสเข้าคอร์สปฏิบัติวิปัสสนาที่เข้มข้น จริงจัง ประสบการณ์ทางธรรมที่ได้รับก็ต่างไปจากเดิม การปฏิบัติธรรมเริ่มมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความหนักแน่น มีเส้นทางที่มั่นคง ไม่ได้เข้าคอร์สปฏิบัติธรรมเพื่อพักจิตให้โปร่งสบายอีกต่อไป แต่เป็นการชำระจิต กำจัดกิเลสภายในที่สะสมมา ทำให้เริ่มคิดพิจารณา และมีเป้าหมายที่จับต้องได้ในเรื่องการเข้าถึงมรรคผลนิพพาน
เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตนแบบชัดเจน
ถ้าเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงในเชิงไลฟ์สไตล์ไม่ค่อยมีนะคะ คือธรรมชาติของพี่เป็นคนที่ไม่ค่อยติดไม่ค่อยอินกับอะไรอยู่แล้ว พี่ไม่ติดเรื่องการดูหนังฟังเพลง เช่นอย่างเสียงเพลง เสียงดนตรีที่ได้ยินกันนี่ พี่ไม่ได้ฟังเลยนะ ไปไหนหูก็ไม่ได้รับมันเข้ามาเลย เคยพยายามฟังเพลง แต่ก็ไม่รู้สึกว่าไพเราะยังไง มันไม่เข้าหู ไม่ว่าจะเพลงแนวไหน แม้แต่คลาสสิกก็เฉยๆ ค่ะ การผ่อนคลายของพี่จึงเป็นการไปเที่ยว สังสรรค์ พูดคุยกับเพื่อนมากกว่า แต่ที่ชัดเจนสุดคือในการปฏิบัติธรรมที่ผ่านมานั้น ช่วยให้พี่ไม่หลงไปกับความสำเร็จต่างๆ ที่ได้มาง่าย เนื่องจากเป็นคนที่มีความมั่นใจสูงอยู่แล้ว อัตตาจึงสะสมพอกพูนมามาก เดชะบุญว่าได้ธรรมะของพระพุทธองค์มาช่วยขัดเกลา ไม่เช่นนั้นแล้วคงหลงไปสุดกู่แล้วเหมือนกัน
อย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนหลังจากที่เริ่มปฏิบัติจริงจังคือ ความยึดติดในความสมบูรณ์แบบนั้นลดลงไปมาก เมื่อก่อนเป็นคนที่ต้องเป๊ะทุกอย่าง เช่น กระดาษตรงนี้ไม่ตรง สีนี้ยังไม่ใช่ แก้ใหม่ เวลาส่งงานพี่นี่ บางทีเป็นสิบรอบเลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าแก้ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรมาก แต่กลับทำใจให้ปล่อยผ่านไปไม่ได้ น้องๆ ที่ทำงานด้วยน่าเห็นใจมาก เพราะต้องการให้เขาทำให้ได้ตามมาตรฐานของเรา เพราะว่าแบรนด์ของเรา ทุกอย่างของเราไปหมด แต่หลังจากมีธรรมะมากขึ้น ก็เริ่มปล่อยผ่านมากขึ้น มีอะไรไม่เป๊ะ บางทีก็บอก บางทีก็ไม่บอก เดี๋ยวหลายทีหน่อยแล้วค่อยบอก วิถีมุมมองของเรื่องเดียวกันมันเปลี่ยนแปลงไป จิตเปลี่ยน พฤติกรรมก็เปลี่ยนค่ะ
สำหรับตัวเอง แม้ไม่ได้นั่งวิปัสสนาเป็นประจำ แต่จะใช้วิธีดูจิต พิจารณาตัวเองอยู่เสมอ เหมือนแนวทางของสติปัฏฐานสี่ สังเกตว่าเมื่อเริ่มทำแบบนี้จนเป็นนิสัยแล้ว พี่เริ่มจะรู้ทันอารมณ์ตัวเอง เข้าใจคนอื่น และปล่อยวางได้มากขึ้น จิตจะเริ่มสอนตัวเองไปเรื่อยๆ จากการที่ได้นำคำสอนของครูบาอาจารย์มาคิดมาพิจารณา มันเกิดเป็นปัญญาที่มาสั่งสอนตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่ได้มาจากการปฏิบัติทุกวันๆ แบบฝึกหักโหมนะคะ แต่มาจากจิตที่สอนตัวเอง มีข้อคิดธรรมะ เราก็พิจารณาดูจนเป็นธรรมชาติ ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ น่าจะเพราะว่าในใจลึกๆ มีสิ่งหนึ่งที่รู้สึกมาตลอดคือ ทำไมชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยรู้สึกสุดกับอะไร แม้ชีวิตจะไม่มีความทุกข์อะไรจริงจัง แต่เวลาที่สนุก เวลามีความสุข ก็ยังไม่ใช่ที่สุดเช่นกัน เหมือนกับชีวิตยังมีอะไรที่ขาดหายไป
การมีลูกสำหรับคนรักเด็กไม่ได้ทำให้ชีวิตเติมเต็มมีความสุขเหรอคะ
เติมเต็มค่ะ มีลูกแล้วรู้สึกว่าชีวิตเติมเต็มขึ้น แต่หลังจากนั้นความสุขที่พีคมากๆ ก็ค่อยๆ หายไป กลายเป็นสิ่งปกติอย่างหนึ่งในชีวิต ที่มาพร้อมกับหน้าที่ ความรับผิดชอบมากมาย ไม่ได้มีแต่ความสุขอยู่ตลอดเวลา อะไรที่ยังไม่เคยมีก็อยากมี แต่พอมีแล้วก็กลายเป็นความเคยชิน เหมือนความสุขทุกๆ ประเภทที่ได้พบเจอ เหมือนสถานที่เที่ยวใหม่ๆ พอเห็นรูปแล้วรู้สึกอยากไปมาก แต่พอไปจริงๆ แล้ว เดินเล่นสำรวจอยู่สักพัก สองสามวันมันก็หมดแล้ว ความตื่นเต้นมันหายสลายไปเองอย่างรวดเร็ว แล้วก็ไม่อยากไปที่เดิมซํ้าอีกแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มาหลังจากปฏิบัติธรรม พอเราย้อนกลับไปมองชีวิตตัวเอง เราถึงรู้ว่าโลกนี้นั้นไม่มีอะไรจีรังเลย
ถ้าเช่นนั้นนิยาม “ความสุข” ของพี่คืออะไร
ความสุขของพี่ ถ้า ณ ตอนนี้แล้วก็คือ เวลาที่เราได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น เป็นอย่างเดียวที่เมื่อพี่ย้อนกลับไปดูแล้วพบว่ามันทำให้พี่มีความสุขจริงๆ คือนึกถึงเมื่อไหร่ก็สุขค่ะ การที่เราได้ทำอะไรให้คนอื่นแล้วเกิดเป็นประโยชน์หรือเป็นการเกื้อกูลคนอื่นในเวลาที่เขาต้องการจริงๆ มันย้อนกลับมาเป็นความสุขที่ใจของเราเอง ทำให้อยากให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ หมายถึงความช่วยเหลือเกื้อกูลในทุกๆ เรื่องค่ะ ทำแล้วรู้สึกดี ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายๆ คนถึงชอบที่จะทำงานจิตอาสาต่างๆ นะคะ
คนรุ่นใหม่กลัวการมีลูกมาก ไม่มั่นใจว่าจะเลี้ยงเด็กออกมาให้มีคุณภาพ เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบัน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ มีหลักการเลี้ยงลูกอย่างไร
พี่ไม่ได้เลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่ง พี่อยากเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ค้นพบคุณค่าในตัวเอง และมีความสุขในที่สุด แล้วสามารถมองเห็นว่าเขาสามารถทำอะไรให้กับตัวเอง ให้กับผู้อื่น ให้กับสังคมได้บ้าง สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงดูลูกในสังคมปัจจุบันก็คือ พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยความเมตตาและความเข้าใจมากๆ เพราะในสังคมปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต้องรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงควรที่จะให้ความสำคัญทางด้านจิตใจ เลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ และเติบโตไปด้วยกันกับลูก ให้เขามีโอกาสได้รับอิสระที่จะได้เรียนรู้ลองผิดลองถูกบ้าง ขณะที่เราคอยเฝ้ามองอยู่ห่างๆ ให้ความรัก ความเมตตา และการสนับสนุนเขาอยู่ข้างหลังตลอดเวลา
สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ในสังคมอินเทอร์เน็ตที่มีทั้งข้อมูลและสิ่งเร้ามากมายเช่นนี้ บางทีการเปรียบเทียบ การแข่งขัน และความคาดหวังมักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แนวทางที่แนะนำในการเลี้ยงดูลูกในสังคมปัจจุบันก็คือ การหันกลับมายึดทางสายกลาง ความพอดี ปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ มีโอกาสที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดบ้าง ลดความกังวล ความคาดหวังลงบ้าง เชื่อว่าทุกคนล้วนมีหนทางของตัวเอง เพียงแต่เราในฐานะพ่อแม่นั้นคอยประคับประคองให้เขาเดินไปในหนทางที่เขาเลือกอย่างสมดุลและมีความสุขที่สุดในแบบของเขา บางครั้งความรัก ความเป็นห่วง และความกังวลที่มากเกินไปนั่นแหละ ที่จะไปสร้างแรงกดดันให้กับเด็กสมัยนี้โดยไม่รู้ตัว
แล้วถ้าเป็นชีวิตต้องต่อสู้ ต้นทุนน้อย
อยากจะบอกว่า ความสุข ความสบายที่ใครๆ ขวนขวายใฝ่หานั้น พี่ได้มีประสบการณ์ ลองรับรส ลองสัมผัสมาเกือบทุกอย่างแล้ว ก็ไม่ได้เจอสิ่งที่ลํ้าค่าหรือนำความสุขที่แท้จริงมาให้ได้เลย เป็นความสุข ความพอใจเพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น หาใช่ความจีรังไม่ ในบางครั้งเราทุกคนต่างก็ทุ่มเททำงานหนักเพื่อแลกมากับสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นต้องมีเลย
แปลว่าเป้าหมายบั้นปลายชัดเจนแล้ว
จริงๆ ในใจพี่รู้มาสักพักแล้วว่า ชีวิตที่เหลืออยู่นั้น พี่เลือกเดินเส้นทางธรรมแน่ๆ พี่เห็นภาพตัวเองว่า ตอนลูกโต เมื่อพี่จัดการภาระหน้าที่ทางโลกได้ลงตัวแล้ว ก็อยากไปบวชชียาวๆ เพื่อจะได้เพียรปฏิบัติภาวนาหรือมุ่งปฏิบัติธรรม และช่วยทำงานเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เชื่อว่าหากได้มีโอกาสปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเข้มข้นจริงจัง มันน่าทำให้เรากระจ่างในธรรมมากขึ้น ยิ่งเกิดเป็นกำลังใจในการที่จะเดินไปให้ถึงพระนิพพานอันเป็นจุดหมายปลายทางที่หวังไว้
4-5 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความรู้สึกว่าชีวิตไม่สุขเหมือนก่อน ไปเที่ยวกลางคืน ไปงานปาร์ตี้แล้วไม่สนุก กลับรู้สึกอ้างว่าง อึดอัด มีความรู้สึกว่าเป็นที่ที่ไม่ใช่อีกต่อไปสำหรับเรา เสียงดนตรีดังรบกวนใจกว่าที่เคย ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เหมือนตัวเราแปลกแยกออกมาจากสิ่งอื่นๆ ในสถานที่นั้น ฝืนยิ้ม ฝืนเต้น ฝืนตะโกน เฮฮา ทำตัวเป็นปกติ แต่ในใจนั้นแสนที่จะอ้างว้าง จากนั้นมาก็เลยเริ่มมองเห็นแล้วว่าตัวเรานั้นเลือกวิถีชีวิตแบบไหน
เมื่อพิจารณาชีวิตที่ผ่านมาดีๆ แล้วพี่ก็ได้เห็นว่า ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์นั้นไม่ใช่แค่เพียงมิติด้านกายภาพ หรือมิติทางการสัมผัสด้านอารมณ์ที่เราเสพให้เกิดความพอใจเท่านั้น ความสงบ ความรัก ความเมตตา ความเสียสละ และอีกหลายๆ สิ่งที่ได้จากธรรมะของพระพุทธองค์นั้น ล้วนเป็นความมั่งคั่งที่มากกว่า เป็นสุขเหนือสุขขึ้นไปอีก และเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าอันแท้จริงที่มากกว่าสำหรับชีวิตการเป็นมนุษย์เสียด้วยซํ้าไป