วันที่ไปรับมอบทองคำและเงินบริจาคเมื่อ 10 ธันวาคม มีเรื่องราวน่าประทับใจที่อยากถ่ายทอดให้ฟังเล็กน้อย…
หากใครเคยอ่านคำสอนของอาจารย์ในช่วงปีต้นๆ อาจ จำได้ที่อาจารย์เขียนเล่าเอาไว้ว่า ในวันที่จัดงานผ้าป่า อาจารย์ เห็นในจิตว่ามีเทวดาและโอปปาติกะมากราบและอยากร่วมบุญด้วย โดยเอาทองคำมาถวายในจิต อาจารย์ก็งงว่าแล้วจะรับกันยังไงในเมื่ออยู่กันคนละภพ ในการรับมอบถวายทองคำเพื่อเททองหล่อพระครั้งนี้ ความสงสัยในกาลก่อนก็กระจ่างขึ้น
การทำทานด้วยอามิสทาน คือ การสละความยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์หรือในของรักของหวง สำหรับคนส่วนใหญ่นั้น จิตเดิมจะต้องต่อสู้กับกิเลสที่หลอกให้หลงยึดมั่นในทรัพย์อย่างมาก จึงทำให้กว่าจะสละได้ รู้สึกว่าต้องใช้พลังมาก บ้างก็นึกเสียดาย เสียดายเงินที่จะมีน้อยลงไปนิด เสียดายตัวเลขในสมุดเงินฝาก ที่จะพร่องไปหน่อย ทั้งๆ ที่ไม่ได้หายอะไรมากมายเลย จิตที่ตระหนี่ ไม่แบ่งปันทำทานให้เหมาะสมกับทรัพย์ที่หามาได้ เป็นจิตที่ให้ได้ยาก เป็นจิตที่ผูกมัดตนไว้ในภพ
บางคนนั้นเรื่องภาวนาถึงไหนถึงกัน แต่ถึงเวลาจะทำทาน ก็ติดตรงความตระหนี่ จนกลายเป็นเครื่องผูกจิตตนเอง บางคนไม่กล้าแบ่งปันสละในส่วนที่ควรสละ จนคิดวน คิดทวน คิดแล้ว คิดอีก เดี๋ยวให้ เดี๋ยวไม่ให้ แต่เมื่อชนะกิเลสได้ โลกธาตุที่ภายในใจก็สะเทือน จนรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งถูกดึงให้ขาดออกไปจากตัว ทำให้รู้สึกโล่ง เบา และรู้สึกเหมือนชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ชนะจิตตระหนี่ได้จึงอุทานออกมาว่า “ชิตังเม!” “ชนะแล้ว! ชนะกิเลสที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่นแล้ว จิตหลังมีชัยชนะจึงรู้สึกปีติจนร้องไห้ ชัยชนะที่เกิดในวันที่ยังมีลมหายใจอยู่ ย่อมส่งผลอเนกอนันต์กว่าชัยชนะเมื่ออยู่ต่างภพ เพราะเมื่อไม่ได้อยู่ในภพเดียวกัน พลังบุญที่ได้ย่อมน้อยกว่ามาก เพราะขาดสมมติที่เป็นวัตถุสิ่งของเป็นสะพานเชื่อม
ในวันที่ให้ศิษย์มาร่วมบุญที่มูลนิธิที่อ่อนนุช มีศิษย์สามี ภรรยาคู่หนึ่งนำทองคำาน้อยใหญ่มาถวายหลายอย่าง ด้วยศรัทธาปรารถนาจะร่วมสืบพระศาสนา หนึ่งในรายการเครื่องทองคำนั้น เป็นแหวนแต่งงาน 2 วง เป็นแหวนชายหญิงที่แลกกันในพิธีแต่งงาน เป็นทองคำเกลี้ยงธรรมดา เพราะทองคำถูกนับว่าเป็นทรัพย์สูงค่า การละความหวงแหนจึงทำได้ยาก
เมื่อศิษย์ทั้งคู่ได้เปล่งวาจาถวายทองคำเบื้องหน้าอาจารย์ น้อมจิตฟังคำอธิษฐานด้วยความปลื้มใจ ที่ศิษย์สามารถสละคืนทรัพย์ส่วนหนึ่งเพื่อสืบสานพระศาสนา เมื่อรับแล้วอาจารย์ เปล่งวาจาอำนวยพรให้ และโดยที่ศิษย์ไม่คาดฝัน อาจารย์ได้หยิบแหวนทองคำที่เป็นแหวนแต่งงานของทั้งคู่ แล้วกล่าวว่า
“บัดนี้ทองคำนี้เป็นของอาจารย์แล้วใช่มั้ย?”
“ใช่ครับ” ศิษย์ชายกล่าวด้วยความนอบน้อม
“ถ้าเช่นนั้นอาจารย์ขอมอบแหวนแต่งงานทั้งสองวงนี้คืนให้ จงรับไว้เถิด รับไว้ให้แหวนแต่งงานนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า เธอทั้งสองเป็นคู่บุญต่อกันที่หมายเดินทางสู่พระนิพพาน” เมื่อกล่าวจบและยื่นแหวนคืนให้ ศิษย์ทั้งสองร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งใจ เป็นโมเมนต์ที่ยากที่จะเอ่ย
จากทรัพย์ที่หลุดออกจากการครอบครองแล้ว แต่กลับได้คืนมาโดยไม่คาดฝัน ทั้งยังคืนมาในแบบที่สูงค่ากว่าเดิม แหวนทองเกลี้ยงที่เคยเป็นเครื่องผูกซึ่งกันและกัน บัดนี้กลายเป็นสะพานบุญที่ทั้งสองได้รักษาไว้ในฐานะผู้ถือครอง ไม่ใช่ผู้ครอบครอง ทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจและเป็นสัญลักษณ์แห่งดวงจิตที่งดงาม ในวันที่จิต…ชนะแล้ว
หลายครั้งที่อาจารย์รับทรัพย์ หรือแม้แต่บุญที่ศิษย์ปฏิบัติบูชาถวายมาให้ หากเหตุปัจจัยเหมาะสม อาจารย์ก็จะคืนทรัพย์นั้นให้ เพื่อไปเป็นปัจจัยแห่งการเกื้อกูล แม้จะคืนให้ แต่บุญที่ทำนั้นสำเร็จแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตของแต่ละคน ไม่สามารถกำหนดเจาะจงไปได้เสมอไป
ด้วยเหตุผลเดียวกันกับวันที่อาจารย์บำเพ็ญถึงจุดหนึ่ง แล้วเอามือดึงผมทั้งหมดขึ้นมา หมายจะตัดทิ้ง ณ นาทีนั้น จิตได้ถอนความยึดมั่นถือมั่นแล้ว บุญจึงสำเร็จแล้ว บารมีธรรมจึงสูงขึ้นไปอีก ต่อเมื่อระลึกถึงประโยชน์ต่อคนหมู่มากในการดำรงตนเป็นวิปัสสนาจารย์ที่ไม่โกนศีรษะ จึงเก็บผมไว้ แต่ใจนั้น ไม่อาลัย ไม่ยึดถือในผมอีก จากจิตที่ยึดกลายเป็นจิตที่ถือครอง เพื่อประโยชน์ เพื่อการเกื้อกูล
ในวันเดียวกันนั้นเองก็มีอีกหนึ่งการถวายทองคำที่น่าปลื้มใจ และให้คำตอบว่า เทวดาที่อยากถวายทองคำร่วมบุญมีจริง อย่างไร โดยเมื่อคุณเบิร์ด ช่างภาพชื่อดังนิตยสารอิมเมจในยุคก่อน นำสร้อยคอทองคำมาถวาย ขณะนั้นมีอีกสองดวงจิตที่กระหนาบข้างมาด้วย นั่นคือดวงจิตบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่เป็นแม่ลูกกัน ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2558 ก่อนถวายสร้อยคอทองคำ คุณเบิร์ดกล่าวถึงที่มาของสร้อยทองคำนี้ว่า
“ตอนที่ศิษย์ไปช่วยงานศพของท่านนี้ หลังจากจบงานแล้ว ลูกชายท่านได้ให้สร้อยคอทองนี้มา ศิษย์ก็สวมติดตัวไว้ ไม่ได้คิดเอาไปทำอะไร มาวันก่อนนั่งภาวนา จิตก็คิดถึงสร้อยคอนี้ คิดหลายครั้ง จากนั้นก็รู้ว่าต้องนำมาถวายเพื่อร่วมบุญสร้างพระ”
ขณะที่คุณเบิร์ดกล่าวนั้นก็เกิดปีติเพราะเกิดจากดวงจิตสาม ดวงที่มีวาสนาต่อกัน อาจารย์รู้ด้วยจิตว่านี่เป็นความปรารถนาของอีกสองดวงจิตที่ต้องการร่วมสร้างพระด้วย จึงส่งกระแสโน้มให้คุณเบิร์ดนำทองคำมาถวาย
อาจารย์รู้จักบุคคลท่านนี้ได้รับความเมตตาจากท่านหลายครั้ง ส่วนบุตรชายเป็นผู้ใจบุญ ทำบุญเนืองๆ แต่ไม่เคยมาถึงขั้น การบำเพ็ญภาวนา อาจารย์คิดไม่ถึงว่า ในวันที่อยู่ต่างมิติ ดวงจิตของเธอก็ปรารถนาจะร่วมบุญสร้างพระด้วย โดยมีคุณเบิร์ดเป็นสะพานบุญอีกทั้ง ณ ขณะที่เปิดทางให้ก็ยังสื่อสารด้วยความห่วงใยต่อคุณเบิร์ด ไม่ให้ประมาทจนหยุดอยู่แค่การทำทานเท่านั้น เฝ้าย้ำว่าอย่าหยุดอยู่แค่นั้น ระหว่างที่กระแสจิตของทั้งสองโน้มมาร่วมถวายทองสร้างพระ คุณเบิร์ดเกิดปีติจนน้ำตาไหล
เช่นนี้แหละ กว่าจะรู้คุณค่าของการได้ความเป็นมนุษย์ ชีวิตก็มักถูกล่อลวงไปไกลจากพระนิพพานจนสายเกินไปเสมอ
ชิตังเม…ผู้ชนะย่อมมีนิพพานเป็นที่หมายได้ เพราะเป็นผู้ชนะกิเลสในตน
การทำทานนั้น สำคัญคือต้องทำในระดับที่ได้รู้สึกว่าได้สละ สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นไว้ นี่จึงเกิดเป็นบุญบารมี ไม่ได้หมายความว่า ให้ไปกู้หนี้ยืมสิน ขายบ้าน ขายรถมาทำทาน พึงทำให้สมดุล มิให้ตัวเองเดือดร้อน ให้มีทรัพย์สำรองไว้ในกาลข้างหน้าเพื่อ รองรับความไม่เที่ยงแท้ ให้รู้จักทำทานยกจิตให้พ้นจากการ ยึดครองของกิเลส ทำให้รู้สึกถึงชัยชนะ แม้วันนี้ยังชนะไม่ได้ ก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าวันหนึ่งต้องชนะให้ได้ หากจิตยังตระหนี่ อยู่มาก ย่อมสวนทางกับธรรมะซึ่งคือการสละคืน ทำได้ดังนี้ บุญกุศลที่จะเกิดเป็นโภคทรัพย์และอริยทรัพย์จะเพิ่มพูนท่วมท้น ส่งผลในแบบที่ไม่อาจประมาณได้
จิตที่ชนะแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การอธิษฐานเปิด พลังมากขึ้น
อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 54 สมัครสมาชิก คลิ๊กที่นี่