Skip to content Skip to footer

ตัณหากับอัตตา… เรื่องแค่นี้จริงๆ

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล

การดูความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม​ จะดูให้ขาดให้ดูที่ สองคำนี้​ คือ​ การลดลงของตัณหาและอัตตา​ ตัณหา​ คือความอยากไปทั่ว​ ไม่ว่าจะเคยคิดอยากมีหรือไม่มี​ เคยใฝ่ฝัน​ หรือไม่​ ต่อเมื่อต่อมความอยากถูกกระตุ้น​ จิตจึงเกิดอยากมี​ อยากได้ขึ้นมาทันที​ นี่เป็นการแสดงถึงกิเลสที่แฝงอยู่ในจิต​ ยัง ไม่อ่อนกำลังลงเท่าใด​ โดยเฉพาะความอยากมีอยากได้ข้าวของ​ แบบเล่นๆ​นี่แหละเนียนมาก​ เพราะการพูดเล่นเกิดจากจิต​ พลั้งเผลอขาดสติ​ พร่องไปนิด​ กิเลสโผล่จนเผลอพูดออกมา​ ​ เวลาพูดดูเหมือนไม่จริง​ แต่กิเลสมันอยากจริงไปแล้ว

เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่อาจารย์จะเปลี่ยนการภาวนามาสู่​ เตโชวิปัสสนา​ แม้ว่าเมื่อภาวนาจบคอร์สแล้วจะรู้สึกสงบระงับอย่างไร​ แต่ตอนนั้นความอยากไม่ได้ลดลงเลย​ พอช่วงหยุดพัก​ ภาวนาแม้เพียงสั้นๆ​ จิตกลับเตลิดมาก​ มองธรรมชาติก็คิดว่า​ จะเก็บแบบไปดีไซน์คอลเลกชันใหม่​ มีอยู่ครั้งหนึ่ง​ คิดอยู่ในหัว​ เป็นเรื่องเป็นราว…“อยากจะเปิดร้านอาหารเล็กๆ​ มีพนักงาน​ เสิร์ฟสัก ​3​ คน…เอ​ หรือ​ 4​ คนดี​ ไว้ผลัดเปลี่ยนวันหยุด​ มี​ แม่ครัวสัก​ 2​ เด็กล้างจานอีกหนึ่ง​ แคชเชียร์หนึ่ง​ เบ็ดเสร็จ​​ 8 ​คน​ ค่าเช่าร้านสักเดือนละ ​50,000​ ค่าแอร์​ น้ำ​ ไฟ​ ​ ค่าซื้อของ​ และอื่นๆ​อีกจิปาถะ​ เดือนหนึ่งค่าใช้จ่ายเกือบ​ สามแสน​ จะไหวไหมนี่​ เอาน่า​ ลองทำสนุกๆ…เอ​ แล้วจะทำไปทำไม​ ไม่เห็นมีทางรวย​ แต่คงหนุกดีนะ​ จะไหวหรือ…จะหา​ เรื่องทำไปทำไม…”​​

สักพัก…เป๊ง…เสียงระฆังดังให้เข้าไปภาวนา

“เดี๋ยวก่อนนะ​ ไปชำระจิตสักครู่​ เดี๋ยวมาคิดต่อ”

ที่ว่ามานี่ไม่ได้รู้ตัวเลยว่า​ ไอ้คิดต่อนี่คือมานั่งเจรจาวางแผน​ ร่วมวงสนทนากับกิเลส​ กว่าจะมารู้ตัวว่าทำไมบ้าได้ขนาดนี้​ ​ ก็เล่นเอาหลายปีผ่านไป​ ที่มาย้อนคิดถึงธรรมของตนในเวลานั้น​ ว่ากิเลสนี่มันเนียนมากนะเนี่ย​ หลอกให้เราดีใจว่าแก้ปัญหา​ เรื่องใหญ่คือมักโกรธลงได้​ แต่แทรกกองกำลังตัณหามาให้จิต​ ติดอีกฟาก​ คือไม่ติดทุกข์​ แต่มาติดหลงความสุขลวงโลกแทน

ตอนที่ปฏิบัติธรรมแรกๆ​ไม่มีผู้คอยตักเตือนเข้มข้นเหมือนที่​ อาจารย์เตือนศิษย์ในยามนี้​ ก็ไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมต้องมีสติ​​ สำรวม​ นึกว่าจะให้มีสติตอนภาวนาอย่างเดียว​ พอช่วงพักจะเป็น​ ยังไงก็ปล่อยจิตไป​ ผลที่ได้คือตัณหาลดน้อยมาก​ ที่พอลดไปได้​ มีแต่ความโกรธ​ อัตตาบางลงนิดหน่อย​ มีความโลภแบบงงๆ​ ​ คือไม่รู้ว่าจะทำไปไหน​ แต่เหมือนกับถูกผลักให้ทำให้ได้​ จนได้​เปลี่ยนวิธีมาปฏิบัติเตโชวิปัสสนา​ ที่พอเผาชัดซัดตรงตัว​ ตัณหา​ ลดเร็วมาก​ อัตตาก็ลด​ จากที่เคยอยากมีไปกับเขาทุกอย่าง​ ​ ก็ยอมรับและทำไปตามหน้าที่​ จิตเริ่มมีปัญญามองเห็นสัจธรรม​ และเข้าถึงอริยสัจอย่างแท้จริง​ ที่เด็ดสุดคือ​ ครั้งหนึ่งตอนที่​ เก็บตัวภาวนาเดี่ยว​ จิตไม่อาลัยอาวรณ์ต่อใครและใดๆ​ทั้งสิ้น​ ​ ไม่ส่งออกไปไหน​ มีแต่กำกับกายและใจให้อยู่ในอารมณ์ภาวนา​ ​ และคิดถึงคุณค่าของเวลามาก​ คิดแต่ว่า​ เมื่อเก็บตัว​มาแล้ว​ ต้องลุยให้ถึงที่สุด​ พอถึงเวลาผ่อนคลายก็นั่งดูน้ำ​ เดินบนพื้นหญ้า​ พอถึงวันสุดท้ายถึงเวลาต้องกลับบ้าน​ ลืมไปเลยว่า​ เป็นคนมีครอบครัว​ จิตตื่นแบบว่า​ “เฮ้ย​ เรามีครอบครัวด้วย​ หรือนี่​ อ้าว​ นึกว่าตัวคนเดียว”…ลืมความมีตัวตนได้ขนาดนี้เลย​ ​ จิตตัดออกได้ขาดขนาดนี้…ขาดจนขำ

พอกลับไปบ้าน​ จิตเปลี่ยน​ แต่ช่วงเดินเข้าบ้าน​ ปรับอาการ​เข้าสู่โหมดครอบครัว​ อยู่บ้านเป็นแม่​ เวลาออกภาวนาเป็นจิตสันโดษ​ มันเกิดสภาวะสับสวิตช์โดยอัตโนมัติ​ ไม่ต้องฝืนใจ​ ​ ไม่ต้องปรับแต่งอะไร​ กลายเป็นธรรมชาติของจิต​ และกลับมีความรักแบบเมตตาต่อครอบครัวมากขึ้น​ หาใช่คิดจะทอดทิ้งไป​ ​ มีแต่ว่าทำอย่างไรจะทำให้ธรรมที่เราถึงแล้วช่วยพยุงและพาเขาให้รอดเช่นเดียวกับเรา…ที่บอกว่า​ ขณะจิตที่ขาด​ เป็นการที่จิตแสดงกำลังให้ประจักษ์ว่ามีก็เหมือนไม่มี​ ถึงเวลาไม่มีมันก็ไม่มี​ ​ แต่ถึงเวลาอยากจะมีก็มีได้แบบใจไม่มี​ คือหากจำต้องมีในบางอย่าง​ แต่มันก็มีแบบงั้นๆ​ เพราะสิ่งที่มีมันเป็นสมมติ​ แต่ใจ​ ไม่ยึดถือสิ่งที่มี​ ก็เลยกลายเป็นความมีในความไม่มี

อาจารย์สอนศิษย์ว่า​ เวลาออกบวชเนกขัมมะมาภาวนา​ ต้องตัดโลกออกให้ได้​ หากนักภาวนายังผูกจิตรุงรังแบบนี้​ ​ จิตไปไหนไม่ได้​ มัวแต่ติดรักกับติดโลก​ บอกจะภาวนาตายคาเบาะ​ แต่จิตไปติดตายคาบ้านไปแล้ว​ จิตพ้นบ้านยังไม่ได้​ ​ แล้วจะพ้นภพได้อย่างไร​ นิพพานเป็นเรื่องของ​“ขณะ”​ สภาวะ​หลุดพ้น​ ได้ความเป็นอริยบุคคล​ ไม่ได้เกิดจากจิตเตรียมการ​ ​ เมื่อใดที่ชะเง้อรอ​ เงื้อง่า​ ตั้งท่า​ วางเป้า​ หากคิดเช่นนั้นจะ​ล้มเหลว​ นิพพานคือเรื่องสวนทางกับโลก​ มันตั้งเป้าไม่ได้​ แต่ตั้งใจพยายามได้​ มีตัณหาไม่ได้​ แต่มีความปรารถนาได้…หากใครไปอ่านประวัติของฆราวาสสายเตโชวิปัสสนานี่จะเห็นเลย​ ว่ามันเป็นเรื่องของขณะจริงๆ​ ที่นั่งเพียรกันเป็นวันเป็นคืน​ ครั้งละหลายชั่วโมงต่อเนื่อง​ เป็นการภาวนาเพื่อเผาชำาระกิเลส​ ไปเรื่อยๆ​ ให้จิตบริสุทธิ์​ และมีกำลังในการถอนอัตตาและวางอุเบกขา​ แต่พอจิตวางได้​ จู่ๆ​มันจะขาดก็ขาดผึงได้​ ​ เพราะเผากันจนเปื่อยแล้ว​ แต่พอจิตมีตัณหามากางกั้นไว้​ ​ ก็เลยเกิดการสร้างตาข่ายมากั้นจิตที่มันเบาแล้ว​ แต่ยังพ้น​ ด่านใสๆ​ไปไม่ได้​ คือพ้นไม่ได้แต่ก็ไม่จม​ พอตัดตัณหาได้​ ​ เขาขาดผึงลอยขึ้นสูงตรงนั้นแบบไม่รู้ตัว

นักภาวนาต้องเข้าใจสาระสำคัญว่า​ โลกเป็นเช่นใด​ เราจะ​ไม่เป็นเช่นนั้น​ โลกิยะกับโลกุตระ​ มันเป็นโลกคนละขั้ว​ ต้องหมั่นฝนใจให้อยู่เหนือโลก​ แม้ยังเหนือจริงๆ​ไม่ได้เพราะกำลัง​ไม่พอ​ แต่อย่างน้อยต้องมีสติ​ ต้องหมั่นพิจารณาตน​ ตรวจดูตัณหาและอัตตาของตนว่าพร่องไปบ้างไหม​ หากตัณหายังฟู​ ​ อัตตาเป็นน้ำล้นแก้ว​ ต้องมาพิจารณาว่ามันเป็นเพราะเหตุใด​ ​ เพราะเราด้อยภาวนา​ หรือเพราะเราไม่มีสติเป็นเครื่องกางกั้น​ ​ เมื่อคนอื่นๆ​เขาปฏิบัติแล้วชีวิตเขาเปลี่ยนได้​ ลดตัณหาและ​ อัตตาได้​ เราก็ปฏิบัติเหมือนกัน​ แต่มันเปลี่ยนไปได้ไม่ดีเท่า​ที่ควร​ ต้องหาเหตุ​ ไม่ใช่มาโทษวิธีภาวนา​ ไม่ใช่ให้กิเลสหลอกว่ามันเป็นอนิจจัง​ มีเกิดมีดับ​ อยากๆ​ดับๆ​ ภาวนาก็เลย​ ​ ติดๆ​ดับๆ​ เพราะเอาคำว่าอนิจจังไปใช้ผิดที่

หากอัตตายังท่วม​ ตัณหาเกิดได้เหมือนน้ำมันกับไฟ​ มันไม่ใช่อนิจจังแล้ว​ มันต้องสลดสังเวชในความไม่เอาไหนของตัวเอง​ ที่ไม่มีวินัย​ ไม่ฝึกฝนตน​ ได้เพียงมองคนอื่น​ แต่ไม่มองตนเองแล้วมุ่งหน้าข้ามไปในทางที่หวัง​ตัณหาดับสิ้นเชื้อได้เมื่อไหร่ ​พ้นทุกข์จากการเวียนว่ายได้เมื่อนั้น

เรื่องแค่นี้จริงๆ…​ ให้ตายเถอะ

ใครพลาดไปแล้ว​ เริ่มต้นใหม่นะ​ ตราบใดที่ยังหายใจอยู่​ ​ อย่าไปยอมแพ้มัน​ ลุยมันเข้าไป

อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 55 สมัครสมาชิก คลิ๊กที่นี่