Skip to content Skip to footer

ลับดาบแห่งสติ

การเปิดธรรมสถานให้เพื่อการภาวนา 4 วัน 3 คืนสำหรับ ศิษย์เก่าผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์อย่างราบรื่น ธรรมสถาน กลับสู่โหมดของการอบรมสอนสั่งธรรมอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์ มีกำหนดสอนเตโชวิปัสสนาคอร์สแรกให้แก่ศิษย์เก่าในปลาย เดือนนี้

ศิษย์ที่ลงชื่อมาปฏิบัติกับอาจารย์ ขอให้ลับดาบแห่งสติ ให้คมมาก่อนนะ อย่าคิดว่าจะมาลับดาบด้วยพลังการสอนสั่ง ของอาจารย์แต่เพียงถ่ายเดียว ใครดาบทื่อ สนิมขึ้น รู้ไม่ชัด สติไม่ตั้งมั่น จะโดนฟาดด้วยไม้เรียวกายสิทธิ์

ในครานี้เมื่อจะได้สอนเตโชวิปัสสนาอีกครั้ง อาจารย์จึง อยากทบทวนหลักวิปัสสนาตามแม่บทสติปัฏฐานสี่

วิปัสสนา แปลว่า ดู, ฐาน คือหลักการที่เป็นรากฐานคำว่า “สี่” คือหลัก 4 ประการที่จะต้องมีสติรู้ให้ชัด คือ1. การมีสติรู้ กาย คือรู้ความเป็นไปที่เกี่ยวกับกาย รู้ไปจนถึงการเคลื่อนไหว 2. มีสติรู้เวทนา คือรู้อารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดแก่จิตและ กายให้ชัด 3. รู้จิต รู้ว่าสภาวะจิตของตนว่าจิตเป็นเช่นไร เช่น จิตเบาหรือหนัก จิตมัวหมอง จิตโศก จิตตก จิตคิดวน นี่คือ รู้จิต 4. รู้สุดท้ายคือ รู้ธรรม หมายถึงรู้ว่านี่คือสภาวะที่เกิดขึ้น กับตนทั้งหมด ณ ขณะนั้น

รู้แล้วทำอย่างไรต่อ

รู้แล้วก็ “วิเนยยะ โลเก อภิชาโทมนัสสัง” คือถอนความ พอใจและไม่พอใจออกเสีย คือการวางจิตให้เป็นอุเบกขา ไม่ให้จิตเกิดความติดใจหรือติดค้างใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น รู้แล้วก็ให้มี ความรู้ชัด มีความเพียรเผากิเลส คือ อาตาปีสัมปชาโณ สติมา

การวางอุเบกขาไม่ได้ให้เป็นผู้ไม่รู้สึกอะไร แต่หมายถึงการ ให้รู้สึกตามความเป็นจริง เป็นมนุษย์ต้องรู้สึก ความรู้สึกคือ เครื่องบ่งบอกความเป็นมนุษย์ คนที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรนี่คือคนตาย แล้ว แต่ในการปฏิบัติวิปัสสนาสติปัฏฐานสี่ ไม่ว่าจะด้วยเทคนิค วิธีใดก็ตาม เมื่อรู้สึกแล้วต้องไม่ให้จิตไหลตามหรือเกิดปฏิกิริยา ต่อารมณ์นั้น แค่รู้ตามความเป็นจริง คือรับรู้แต่ไม่รับเอา ไม่ให้ จิตไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ เพราะตัวที่ปั่นให้เกิดอารมณ์ ขึ้นๆ ลงๆ นั้นคือกิเลส หากเราเอาจิตไหลฟุ้งตามหรือคิดวนไม่ หยุด นั่นคือการติดหล่มที่กิเลสปั่น แต่หากจิตเกิดปัญญารู้ เท่าทัน รู้แล้วยอมรับ แต่ไม่ยอมทำปฏิกริยาต่อ อารมณ์นั้นจะ ถูกตัดไปด้วยกำลังของสติ

ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย อธิบายได้เป็นฉากๆ มีอะไรผุด ขึ้นมาก็รู้แล้ววางเฉย แต่จริงๆ แล้วไม่ง่ายเลย เพราะการวาง เฉยหรือการวางอุเบกขาคือกำลังของจิต ผู้ที่จะวางอุเบกขาได้ดี จึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนและต้องมีกิเลสที่บางเบาแล้ว จึง จะวางอุเบกขาได้อย่างมีนัยยะสำคัญ คือ สามารถถอนความ ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ได้ เมื่อถอนได้ก็หมายถึงกิเลสที่ผูกมัด จิตให้ติดในวัฏสงสารอ่อนแรงลงหรือขาดลง ภาษาธรรมเรียก ว่า สังโยชน์ (เชือกผูกจิต) เมื่อจิตเป็นอิสระจากการถูกผูกหรือ ถูกครอบงำ ก็ทำให้จิตลอยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ สูงมากเข้าก็เข้าข่ายโสดาบัน คือจิตเบาจากกิเลสจนจะไม่เป็นผู้ตกต่ำต้องไปเกิดใน อบายภูมิ จิตสะอาดยิ่งขึ้นก็สูงไปสู่ขั้นสกิทาคามี อนาคามี และ หากไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ คือตัดสังโยชน์ทั้งหลายสิ้นเชิง ก็ บรรลุอรหันต์ นี่คือการทบทวนธรรม

วิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐานสี่ สายเตโชวิปัสสนา มีเทคนิควิธีในการตั้งสติเพ่งดูกายเพื่อจุดธาตุไฟในตัวมาเผา กิเลส ขณะปฏิบัติจิตต้องดำรงสติสัมปชัญญะคือ รู้ตัวชัด และ วางอุเบกขา

การเพ่งคือกำลังสมาธิ การรู้ตัวชัด และการวางอุเบกขา คือวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อหลักการแน่น วิธีการประหารกิเลส ทรงพลัง ทำให้กิเลสที่ครอบงำจิตอยู่สลายไป สิ่งใดที่ไม่เคยรู้ ก็รู้ขึ้นมา เมฆหมอกใดที่คลุมใจก็ถูกทลายลง ทำให้มองเห็น ความจริงที่ซ่อนอยู่ การเข้าถึงความจริงคือสภาวะปัญญาใน ธรรม นำไปสู่การรู้แจ้งธรรม ไปจนถึงการบรรลุธรรม

ในการประหารกิเลสด้วยธาตุไฟในกาย เป็นการทำลาย การครอบงำกลืนกินจิตของกิเลสอย่างทรงพลังมาก ทำให้กิเลส ถูกทำลายไปจนเจาะได้ถึงอาสวะกิเลสเครื่องดองสันดาน ปฏิบัติ ภาวนาเพียง 7 วันจึงเปลี่ยนชีวิต เพราะเพ่งเป็นเพ่ง เผาเป็น เผา ลุยเป็นลุย เผาทั้งกิเลสและเผากองสังขารที่เป็นเชื้อให้ พามาเกิด ถึงเวลาภาวนาคือการออกศึก มีสติคมกริบดั่งดาบ ซามูไร เมื่อใดที่เพ่ง เมื่อนั้นได้เผา สติที่คมชัดเป็นฐานสำคัญ ในการภาวนา การฝึกสตินั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องฝึกในขณะ ภาวนาอย่างเดียว การฝึกสติต้องฝึกตลอดเวลาที่รู้ตัว ไม่ว่าจะ เคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อน จะคิดการงานหรือคิดอื่นใด จิตต้อง มีสติอยู่เสมอ จิตเปรียบเป็นสมองสั่งการ สติคือเครื่องมือของ จิต ทำหน้าที่เป็นมือและเท้าที่ทำการตามสมองสั่ง หากจิต อยากหลุดพ้น แต่ไม่มีเครื่องมือ ก็ไม่สามารถสำเร็จได้

หลักวิปัสสนากรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้ ความสำคัญกับสติมาก จึงทรงเรียกว่าสติปัฏฐานสี่คือมีสติ เป็นฐาน เป็นกลไกทำงานเพื่อนำไปสู่การหลุดพ้น

อาจารย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับสติเรื่องหนึ่งที่อยากเล่า ให้ฟัง เป็นเรื่องผลของการที่สติถูกแบ่งความสนใจออกเป็น 2 ไม่จดจ่อเป็นหนึ่งเดียว โดยครั้งหนึ่งอาจารย์ลุกออกจากที่นอน จะเดินไปห้องน้ำในความมืดโดยไม่เปิดไฟ ปกติเมื่อเดินด้วย ความมีสติคมชัด ก็เดินได้ราบรื่นไม่เคยชนอะไร แต่พอทดลอง เดินไปด้วยแล้วก็คิดเรื่องอื่นๆ ไปด้วย ไม่ได้จดจ่อกับการเดิน อย่างเดียว ปรากฏว่า…เดินชนกำแพง! จากนั้นอาจารย์ก็ทดลอง แบบนี้อีกหลายครั้ง ผลก็คือ เดินเฉียงไม่ตรงทางบ้าง เดินชน กำแพงบ้าง

การทดลองนี้ทำให้อาจารย์เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า การขาดสติ จดจ่ออยู่กับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว ณ ขณะนั้นๆ ปล่อยให้สติแตกไปสนใจเรื่องอื่นๆ พร้อมๆ กัน นอกจากจะ ทำให้ขาดความรู้ตัวชัด ขาดความแจ่งแจ้งในสิ่งที่ทำแล้ว ยัง นำไปสู่การประสบอุบัติเหตุอีกด้วย เรื่องนี้อาจฟังดูเฉยๆ สำหรับศิษย์ แต่อาจารย์รู้สึกว่าผลของการทดลองช่างอัศจรรย์มาก ใน การได้เห็นผลเสียของการขาดสติอย่างเป็นรูปธรรม เพราะโดย มากมักเล่าในเชิงพลังงานชั้นละเอียด เช่น เห็นสติในมิติทางจิต ทำหน้าที่เป็นกรรไกร เป็นมีด แต่การเห็นผลเป็นรูปธรรมเช่น นี้ ทุกคนเข้าถึงได้และสามารถทดลองได้ แม้แต่ผู้เป็นวิปัสสนา จารย์เอง หากไม่กำหนดสติให้เป็นหนึ่งก็ยังพลาด แล้วผู้ที่ไม่ได้ ฝึกฝนจิตเล่า จะพลาดไปไกลขนาดไหน

การพลาดที่ไม่ถึงขั้นเลือดตกยางออก ทำให้คนมักไม่เห็น ความสำคัญหรือประโยชน์ของการฝึกสติ จึงใช้ชีวิตแบบขาด สติไปเรื่อยๆ เดินไปคิดไป กินไปดูมือถือไป คิดเรื่องใดอยู่ ก็ไม่จดจ่อ ไม่ทันไรก็เปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่น หรือปล่อยให้เกิด ภาวะคิดวน คิดซ้อนอยู่ในหัว ชีวิตจึงขาดศักยภาพ ขาดพลัง ของชีวิต มองสิ่งใดไม่ขาด อ่านแผนอะไรไม่คมชัด ตัดสินใจ ใดๆ มักผิดพลาด ทั้งยังไม่สามารถยกระดับความคิดความ สามารถขึ้นไปสู่จุดสูงได้เลยเพราะไม่กำหนดสติให้เกิดการรู้ ชัด

เมื่อเราปฏิบัติภาวนา เราก็กำหนดสติให้เพ่ง ตรึง และรู้ สติคมเมื่อไหร่ไฟก็ลุกเมื่อนั้น แล้วยิ่งยกกำลังของ สติขึ้นสู่มหาสติ คือการจดจ่อจนไม่จดจ่อได้ จิตจะยกกำลัง ทำให้จิตพุ่งทะลุทะลวงไปเผากองสังขาร เพราะจิตคือ หัวหน้าใหญ่ เมื่อเครื่องมือของจิตคือสติทรงพลังแล้ว อะไร ก็ฉุดไม่อยู่

สตินั้นกำหนดได้ เหมือนการกำหนดว่าจะยกมือขึ้น สูงแค่ไหน การไม่กำหนดสติคือการปล่อยให้พลังอื่นๆ เข้า มาแทรกแซง ชี้นำหรือบั่นทอนพลังของจิตไป การลับ ดาบแห่งสติจึงเป็นหัวใจสำคัญในภาคการปฏิบัติวิปัสสนา กรรมฐานยิ่งนัก

ไม่นานนี้อาจารย์นั่งรถตู้โดยสารส่วนบุคคลไปที่แห่งหนึ่ง โดย มีโชเฟอร์ซึ่งเป็นเจ้าของรถเป็นคนขับ เขาขับรถเร็วมากด้วยความ คิดว่าตนคุ้นเคยพื้นที่ ระหว่างทางอาจารย์ก็นั่งพักผ่อนอยู่ แต่แล้ว จิตก็ดึงให้อาจารย์หันไปจดจ่อมองที่คนขับ ไม่ทันถึงหนึ่งนาทีดี อาจารย์ก็แทบไม่เชื่อสิ่งที่เห็น กล่าวคือโชเฟอร์ผู้กำลังเหยียบ คันเร่ง 120 กม.ต่อชั่วโมงตีเข้าทางโค้ง จู่ๆ เขาใช้มือที่ควรจะจับ อยู่ที่เกียร์หรือพวงมาลัย หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมายกมือถือขึ้น สูงระดับศีรษะ หันหน้าพ้นจากกระจกรถ เอี้ยวตัวมาดูโทรศัพท์ แล้วก็สไลด์อ่านข้อความทางไลน์ ทั้งๆ ที่กำลังเหยียบคันเร่งอยู่!

อาจารย์ตาเบิกโพลงแล้วตะโกนออกไป “คุณกำลังทำอะไร อยู่! คุณดูไลน์ขณะขับรถไม่ได้นะ มันอันตรายมาก คุณทำอย่าง นี้ได้อย่างไร คุณไม่เห็นความสำคัญของชีวิตผู้โดยสารเลยหรือนี่”

หากใช้ภาษาทางโลกก็คงบอกว่า เห็นแล้วแทบช็อก….

เมื่อเป้าหมายของชีวิตสูงส่งถึงนิพพาน จงมุ่งมั่นลับดาบ แห่งสติ อย่ามองแต่ที่สูง โดยละเลยการฝึกฝนฐานสำคัญที่นำพา ชีวิตให้ถึงจุดหมายทั้งโลกและทางธรรม ลองทดลองเดินไปสู่ จุดหมายในห้องที่มืดสนิท ขณะที่เดินก็คิดเรื่องอื่นสัก 2-3 เรื่อง ไปด้วยดูที หัวโนแล้วจะได้รู้ว่าการขาดสติจะนำชีวิตไปสู่สิ่งใด

บางทีการให้ทดสอบกลับด้านอย่างนี้ก็สอนใจได้เหมือนกันเมื่อไม่เห็นประโยชน์ก็ให้เห็นโทษเสียก่อนแล้วประโยชน์จะตามมา

ดาบแห่งสติคืออาวุธคู่จิตคู่กาย การปล่อยให้ดาบขึ้นสนิม ก็เปรียบเป็นการถูกจับให้แพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันได้ลงสู่สงคราม

เมื่อไม่เคยได้ออกศึก แล้วจะมีวันประกาศชัยชนะได้ไฉน

ลับดาบ…