Skip to content Skip to footer

เจ้ากรรมนายเวร

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล

กรรมส่งผลเป็นสองลักษณะ ลักษณะที่หนึ่งคือ วิถี ลักษณะที่สองคือ เจ้ากรรมนายเวร คือเมื่อเราได้ทำกรรมอะไรเอาไว้ บุคคลที่ถูกเบียดเบียนนั้นก็เท่ากับได้สิทธิ์ในการตามล่าตามล้างจองเวรจองกรรมต่อกัน มีศิษย์หลายคนที่พ่อแม่คือเจ้ากรรมนายเวรของลูกที่ตามมาเกิดด้วยจิตจองเวรและไม่มีอะไรที่จะใกล้ไปกว่าการได้มาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกันห่างกันอีกนิดก็พี่น้องสายเลือดเดียวกัน แล้วก็เป็นสามีภรรยาที่กลายมาเป็นคู่เวรคู่กรรม ดังนั้นเราจึงเห็นว่าแม้ในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด บางครั้งจึงมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมากยิ่งนัก ก็เพราะว่าด้วยจิตที่มีความยึดมั่นถือมั่นและจองเวร ยิ่งผูกเวรมากเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกโน้มนำด้วยกระแสคลื่นพลังงานให้มาเกิดอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้นเท่านั้น

อาจารย์เห็นศิษย์หลายคนถูกพ่อแม่ขวางไม่ให้ออกปฏิบัติธรรม บางคนก็บังคับให้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน ให้หาแต่เงินลูกเดียว โดยที่ไม่สนใจในเรื่องของบาปบุญคุณโทษหรือการบำเพ็ญกุศลเพื่อให้ได้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ทำให้รู้สึกสงสารเห็นใจยิ่งนัก ทางรอดก็คือ ต้องหมั่นแผ่เมตตาให้มาก ต้องใช้กระแสเย็นเข้าคลายกระแสกรรม พลังเมตตาที่ดีที่สุดจะเกิดหลังจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว เพราะเมื่อจิตชำระความ มืดบอดออกไป จิตจะมีความเมตตาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เมตตาจากการพยายามคิด

พลังเมตตานั้นมีหลายระดับมาก จึงบอกว่าการได้มาอยู่ในภูมิมนุษย์นี้ คือการได้ถอดรหัสกรรมต่อกัน แม้พ่อแม่จะเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร ด้วยฐานะความเป็นบุพการีก็ทำให้ต้อง มีความเมตตาลึกๆ ต่อลูก ใช่ว่าคิดแต่จะห้ำหั่น แม้จะด่าว่ายังไง จิตเมตตาก็ยังมีอยู่ในตัวในฐานะของพ่อแม่ ตัวลูกก็ต้องเอาชนะกิเลสที่จะต้องรำลึกถึงบุญคุณของท่านที่ให้ได้กายเนื้อกายสังขาร ให้ชีวิต ไม่ฆ่าให้ลูกตายไปซะก่อนตั้งแต่เริ่มเกิดออกมา จึงทำให้จะต้องมีความตั้งใจและพากเพียรในการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ แม้ว่าจะรู้สึกว่าพ่อแม่รังแกฉันอย่างไร ต่างก็ต้องเอาชนะความมืด ที่ติดรหัสจิตของตนมาให้ได้ นี้จึงเรียกว่า การได้มาถอดรหัสกรรมต่อกัน เพื่อให้จบสิ้นการจองเวรเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ความอาฆาตพยาบาทย่อมจบลงด้วยความเมตตา

ศิษย์คนหนึ่งมาภาวนาด้วยใบหน้าที่เศร้าหมอง เจ็บป่วย เป็นโรครุมเร้าสารพัด เดินทีแทบเป็นลมไม่มีเรี่ยวแรง และก็อยากมาภาวนาเพราะอยากหายป่วย ไม่ได้มีศรัทธาอะไรเลย คืออยากมาหาทางรักษาโรคอย่างเดียว พอมาสอบอารมณ์ตรงหน้า เจ้ากรรมนายเวรก็ซัดมาที่อาจารย์บอกว่า ช่วยบอกเขาเป็นคำ พูด ตรงๆ เลยว่า “กูอยากให้มึงรู้ ว่ากูทุกข์ทรมานจากการกระทำของมึงแค่ไหน”

คือศิษย์คนนี้อดีตชาติเคยสั่งลงโทษเขาจนถึงตายอย่างทุกข์ทรมาน แล้วเขาก็เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย ก็เลยยิ่งทำให้แค้นมาก อาจารย์ก็จำต้องบอกให้ศิษย์ฟังด้วยภาษาที่เจ้ากรรมนายเวรเขาอยากให้บอก เมื่อถ่ายทอดความรู้สึกให้รู้ จะได้รู้ว่ากรรมนั้นเป็นเช่นใด ศิษย์ก็จะได้มีกำลังใจในการเพียรภาวนา เพราะหากว่า เราเพียรให้มากก็จะเกิดอานิสงส์สูง และอานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นอานิสงส์ที่ยกภพภูมิได้ สามารถชดใช้หนี้กรรมได้ เสมือนหนึ่งกับว่า ถ้าหากว่าเราไปทำบุญตามธรรมดา เช่น เราไปฆ่าคนตายมา ทำลายชีวิตเขาทั้งชีวิต พอมีความหวาดกลัวเวรกรรมก็ไปทำบุญเลี้ยงพระ ตักบาตร ถวายสังฆทานอย่างเดียว ซึ่งเป็นบุญที่ทำได้ง่าย เรียกว่าอามิสทานแล้วก็อุทิศบุญไปให้เจ้ากรรมนายเวรโดยที่ใจนั้นก็ไม่ได้มีศรัทธา ไม่ได้ลงแรงอันใด ก็เสมือนหนึ่งกับว่าเราฆ่าคนตายทั้งคน แต่ถึงเวลาเราจะกล่าวคำว่า ขอโทษ ก็เพียงแต่ยกอาหารดีๆ ไปให้ ทำให้เจ้ากรรมนายเวรนั้น มักจะไม่ให้อภัยต่อกรรมวิบากที่ทำกับเขาไว้อย่างทารุณ ทำให้เขาได้รับทุกขเวทนาอันสาหัส คืออานิสงส์แห่งบุญนั้นไม่เสมอกัน

ต่างกับบุญจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องมาบำเพ็ญเพียร บำเพ็ญกุศลด้วยความมีขันติ ความอดทน อดกลั้นด้วยความตั้งใจอย่างยิ่งยวด เมื่อจิตชำระให้บริสุทธิ์แล้ว ก็ได้สร้างภพภูมิที่สูงเอาไว้ และเมื่อแบ่งบุญหรืออุทิศบุญให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ทำ ให้เขาได้รับการยกภพภูมิไปด้วย การจองเวรต่อกันก็ย่อมจบสิ้นลงได้ เวรกรรมที่เคยทำไว้ก็จะเหลือแต่ส่วนของวิถีอย่างเดียว ไม่ต้องมารับวิบากกรรมในส่วนของการจองล้างจองผลาญอีก เมื่อเจ้ากรรมนายเวรยกโทษให้

คนส่วนใหญ่ชอบแต่จะหนีกรรม ทำเขาเจ็บปวดแสนสาหัส แต่ไม่อยากรับผล พอรู้ว่าใครอยู่ที่ไหนพาหนีได้ ก็รีบแห่กันไปหาทางรอด แต่ไม่สนใจเรื่องการแก้จิตทั้งระบบ ไม่มีวิริยะต่อการเพียรสู่การหลุดพ้น กรรมบางอย่างเจ้ากรรมนายเวรเขาอยากให้เราได้รับรู้รสชาติแห่งความขมขื่นที่เขาได้รับบ้าง ให้ได้เข้าใจหัวใจเขาบ้าง ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อคิดแต่จะเอาตัวรอด โดยไม่มีใจน้อมถึงความผิดของตนเลย ศิษย์ผู้นี้ก็ร่ำ ๆ แต่จะหนีกลับ

อาจารย์บอกว่า “หากหนีกลับจะยิ่งหนักกว่าเดิม”

แล้วเธอก็มาคะยั้นคะยอกับอาจารย์ว่า “อาจารย์รับปากได้ ไหมคะ หากหนูอยู่ภาวนาจนครบคอร์สแล้วหนูจะหายป่วย”

อาจารย์ตอบว่า “รับปากไม่ได้หรอก เพราะที่นี่เป็นที่ภาวนา ไม่ใช่ที่รักษาโรค”

อาจารย์ว่าไปตามจริง คนที่มาภาวนาเพราะจะรักษาโรคนี่ เสร็จทุกราย เพราะใจมีแต่ตัณหาและหมกมุ่นกับปัญหาของตัวเอง แต่หากตั้งใจภาวนาเพราะศรัทธาอยากพ้นไป ทั้งใจน้อมเห็นความผิดของตนก็พอจะช่วยได้ คือพึงยอมรับว่านี่คือกรรมจริงๆ เพราะหากไม่ใช่กรรม ทำไมคนอื่นไม่ป่วยเหมือนเรา ทำ ไมไปหาหมอที่ไหนก็ไม่รู้สาเหตุ รักษาไม่ได้ ให้น้อมใจนึกถึงผู้ที่เราเคยทำร้ายเขามาแต่อดีต แม้จะรู้ไม่ชัด คือรู้เพียงเลาๆ แต่ก็เหมือนเราเห็นใครเจ็บป่วยมา หากใจมีเมตตาก็จะสงสาร นึกน้อมว่าเขาคงทุกข์ทรมานใจก็อ่อนโยนเห็นอกเห็นใจกัน

ใจที่อ่อนโยนเป็นใจที่จะได้รับความเมตตา แต่ใจที่เห็นแก่ตัวไม่สนใจความทุกข์ของคนอื่น คิดแต่จะหนีเจ้ากรรมนายเวร ที่ไหนจะเมตตา แล้วหากคิดได้แล้วพากเพียรชดใช้กรรมด้วยการเจริญภาวนาเพื่อชดใช้หนี้ต่อกัน เจ้ากรรมก็จะได้อโหสิกรรม ไม่ต้องมาฝัง บีบ ทำลาย อยู่ในสังขารอยู่นี่

การมุ่งทำบุญเพราะอยากหนีและมีตัณหาอยากได้บุญ ทำเท่าไหร่ก็ยังได้แค่วนอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์ที่โผล่ขึ้นมารับความสุขเป็นชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็จมลงไปใหม่ด้วยกิเลสที่มัดตนไว้ ผู้ที่เข้าถึงธรรมแบบถึงเนื้อถึงกระดูก เวลามองชีวิตแล้วมองขาดกระจุย ทำบุญไม่สนอานิสงส์ ทำบุญเพียงเพื่อความดีงามแห่งตนและเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง แรงส่งแห่งอานิสงส์ที่เกิดจากการสละจึงเพิ่มพูนมหาศาล เข้าตำรา ผู้ไม่ขอย่อมได้ ผู้ให้ย่อมได้รับ

ดังนั้นใครที่กำลังประสบกรรมอยู่ ขอให้น้อมใจรับ แต่ไม่น้อมใจแพ้ต่อโชคชะตา เราทุกคนเคยเป็นผู้ผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้น มิฉะนั้นเราไม่อาจมาพบกันอีก ย่อมเป็นผู้พ้นไปแล้วทั้งนั้น แต่เพราะผิดเป็นครู จึงต้องสอนใจให้มั่น ขอให้การพลาดพลั้งของเราครั้งนี้เป็นความผิดในชีวิตครั้งสุดท้าย เพียรสร้างกุศลกรรมด้วยการภาวนา เพื่อสร้างเหตุที่จะทำให้เราได้รับผลเป็นผู้ชนะตนอย่างถาวร ไม่ต้องกลับมาสู่วัฏฏะนี้อีก

เพราะ เหตุปัจจะโย อารัมมะณะปัจจะโย

ธรรมมีเหตุเป็นปัจจัย ธรรมมีอารมณ์เป็นปัจจัย…

อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 58 สมัครสมาชิก คลิ๊กที่นี่

สำหรับลูกค้าในประเทศ

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่นี่