
คุณหนูในดวงใจวัย 9 ขวบเข้ามาหาอาจารย์แล้วบอกว่า“หนูได้รับเลือกให้ขึ้นเสียงบทนำ วันครู ‘ปาเจรา จริยา โหน ติ…’ คุณครูบอกว่าหนูเสียงใสมากฟังแล้วสะดุดจริงๆ”
ความตื่นเต้นของคุณหนูทำให้อาจารย์ได้หวนคิดถึงวัยเด็กที่เวลามีพิธีไหว้ครู อาจารย์ไม่เคยจำได้ว่าเคยรู้สึกว่าคุณครูมีบุญคุณ มากจริงๆ กับเขาบ้างหรือเปล่าในวัยนั้น
จนเมื่อได้มาทำหน้าที่เป็นครูสอนธรรมะที่โรงเรียนแห่งชีวิต ต้องสอนเด็กในห้องแต่ละครั้ง 70-80 คน ต้องใช้เสียงมากร่วม 3 ชั่วโมงเต็ม ต้องพยายามตรึงความสนใจของเด็ก และสู้กับความซุกซนตามวัย เพื่อให้จิตเขาแทรกซึมธรรมะให้ได้ หลังจบการสอน แรกๆ กลับบ้านไปก็เหนื่อย เพราะใช้พลังจิตดึงจิตเด็กไปมาก และก็แสบคอเสียงแหบแห้ง จึงได้เข้าถึงหัวใจว่าเป็นครูนี่เหนื่อยจริงๆ
ตั้งแต่นั้นมาความรู้สึกรักและเคารพในวิชาชีพครูจึงเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
เวลาพูดถึงคำว่า “ครู” จะมีครูอยู่ 2 ท่านที่อาจารย์คิดถึงคนหนึ่งเป็นครูที่ดุมากๆ ในสายตาของเด็ก ป.1 ชื่อคุณครูศิริลักษณ์ สอนวิชาภาษาอังกฤษ ถ้าเด็กคนไหนทำผิดหรือท่องศัพท์ผิด คุณครูจะใช้นิ้วที่ไว้เล็บยาวมากหยิกด้วยการจิกลงไปที่ผิวหนัง การได้เรียนชั่วโมงคุณครูศิริลักษณ์ถือเป็นฝันร้าย แล้วอาจารย์ก็หนีไม่พ้นเล็บครุฑของคุณครูไปได้ อาจารย์ไม่เข้าใจว่าทำไมคุณครูต้องดุขนาดนั้น และทำให้การต้องเจอครูกลายเป็นความทุกข์และจิตหลอนกลายๆ ในช่วงเวลานั้นอาจารย์เด็กจนเกินกว่าจะเข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติที่ครูต้องดุ เพราะหากไม่ดุนักเรียนจะขาด วินัย และบางครั้งเด็กก็มักจะสร้างภาพของครูขึ้นมาให้ดูดุเกินจริง
คุณครูอีกคนชื่อคุณครูปราณี สอนช่วง มศ.1 ท่านสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ คุณครูปราณีมักมีรอยยิ้มที่มุมปากเล็กน้อยและไม่ดุ เวลาสอนท่านจะถือหนังสือไว้ในมือแต่ไม่ค่อยดู ท่านใช้วิธีเล่าเรื่องให้น่าสนใจด้วยความตั้งอกตั้งใจ จนสัมผัสได้ถึงความรักในสิ่งที่ท่านถ่ายทอด ทำให้เวลาท่านสอนถึง กลอนของสุนทรภู่หรือเล่าประวัติศาสตร์ ใจอาจารย์ก็ละลิ่วไปตามเรื่องที่ท่านสอน ทำให้ไม่ลืมพระคุณที่ท่านทำให้อาจารย์ได้ความเป็นคนรักภาษา รักวิชาประวัติศาสตร์ และซึมซับความละเมียดละไม ผ่านบทชีวิตอันหลากหลายที่โลดแล่นไปในภาษาและ ประวัติศาสตร์จากการถ่ายทอดของคุณครูท่านนี้
อาจารย์ได้บอกกับหนูน้อยที่ภาคภูมิใจในการกล่าวนำ เพียงบทเดียวในวันครูว่า “เป็นโอกาสอันประเสริฐยิ่งแล้วลูก แม้หนูจะได้กล่าวนำเพียงประโยคเดียว แต่เป็นประโยคที่นำความงดงามมาสู่หัวใจของผู้ได้ฟัง เป็นคำเทิดทูนพระคุณของคุณครูด้วยคำอันไพเราะ คิดดูสิลูก วันหนึ่งๆ เราพูดอะไรมากมาย แต่คำพูดที่ออกจากปากเราแทบจะหาประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อจิตใจจริงๆ ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องหนัง เพลง เรื่องเล่น การบ้าน แม้กระทั่งการงานใดก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อจิตใจ แต่ประโยคเดียวที่หนูจะพูดนำ นี่เป็นประโยคที่มีคุณค่า สูงส่งด้วยการแสดงความกตัญญู คนฟังก็ชื่นใจ หนูมีโอกาสได้ทำบุญยิ่งแล้วลูก”
อาจารย์มีศิษย์วิปัสสนาหลายคนที่เป็นครูในทุกระดับ และตำแหน่ง ครูบางคนเมื่อภาวนาแล้วก็สำนึกผิดกับอาจารย์ว่า “สังขารกรรมที่ออกมาทำให้ศิษย์สำนึกผิด ที่ตอนเป็นครูมีบางครั้งไม่ได้สอนนักเรียนด้วยความตั้งใจ และก็เคยตีเด็กอย่างไม่ปรานี เคยตีที่หลัง วันนี้กรรมมันปรากฏในจิต ศิษย์เสียใจค่ะท่านอาจารย์”
อาจารย์สอนศิษย์ว่า “ได้เห็นกรรมของตนเช่นนี้ก็ดีแล้ว จะได้แก้ไขได้ ไม่มีใครหรอกที่ไม่เคยทำผิด บางครั้งการที่ทำ อะไรโดยความเป็นหน้าที่อย่างเดียว ไม่มีความรักและศรัทธาเป็นพื้นฐานก็อาจทำให้เราก้าวพลาดได้”
แม้จะมีบ้างที่ครูอ่อนแรง ประมาทพลั้งเผลอไป ก็ใช่ว่าจะทำให้ศิษย์ลืมรำลึกถึงพระคุณของครู
เหตุที่ศิษย์มักลืมคุณของครูก็เพราะ 1. ถูกกดด้วยความกลัว 2. ถูกกดด้วยเป้าหมาย คือ คะแนน พอผ่านสภาวะกดดันไปได้ ก็เลยลืมพระคุณของครู เพราะมัวแต่เพลิดเพลินในอิสระที่ตนได้รับ 3. ใจไม่ได้รับการปลูกฝังคุณธรรมมากพอ ไม่ว่าเราจะเคยลืมพระคุณของคุณครูด้วยเหตุผลใด การกระทำที่บกพร่องนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ตราบที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ย่อมสามารถแก้ไขตัวเองได้
คำไหว้ครูอันไพเราะและลึกซึ้ง หากลองมาอ่านกันดีๆ ในวันที่เรามีสติขึ้น มีธรรมที่สูงขึ้น จะเห็นว่าผู้ประพันธ์บทคำ ไหว้ครูนั้น ช่างเป็นผู้ที่ละเอียดและอ่อนโยน ทำให้ผู้เป็นศิษย์ได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวทิตาอันงดงามและนอบน้อม
“ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา ข้าฯ ขอประณต น้อมสักการ บูรพคณาจารย์ ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าฯ ในกาลปัจจุบัน ข้าฯ ขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ข้าฯ และประเทศไทยเทอญ”
แม้การเรียนรู้ในสถานศึกษาจะจบลงไปแล้ว แต่การเรียนรู้ ในเวทีชีวิตไม่เคยจบลง จนกว่าเราจะหมดลมหายใจ การมาเกิด ทำให้เราได้มีครูมาทุกชาติภพ และเป็นบุญชีวิตนักหนาที่ได้มาพบพระบรมครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อยังจิตของเราให้บริสุทธิ์ขึ้น พึงส่งจิตน้อมรำลึกถึงพระคุณแห่งครู ไม่ว่าท่านจะเป็นครูในชาติใดภพใด และพึงน้อมขอขมากรรมต่อครูบาอาจารย์ทุกๆ ท่านที่เราอาจได้เคยประมาทพลั้งเผลอ ด้วยความเยาว์และโง่เขลาในชีวิต อาจเคยล้อเลียน พูดถึงโดยขาดความเคารพ ด่าทอ ยโส โอ้อวดตนเก่งกว่าครู เพราะการกระทำ เหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของผู้ประพฤติธรรม และจักส่งผลอันทรามต่อชีวิตไม่ช้าก็เร็ว
ขึ้นชื่อว่าครู แม้ว่าจะเป็นเพียงครูที่สอนให้เขียน ก. เป็นครูประชาบาลบ้านนอก หรือเป็นครูมีดีกรีสูงแค่ไหน สิ่งที่ครูทุกคนได้ให้ศิษย์ไว้ไม่ต่างกันก็คือ ครูช่วยเปลี่ยนศิษย์จากผู้ไม่รู้มาสู่ความเป็นผู้รู้ จากผู้ไม่เห็นทางมาสู่ผู้เห็นทาง ครูจึงมีพระคุณนักหนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ที่ชี้ทางสู่การหลุดพ้น ยิ่งต้องระลึกถึงพระคุณอย่างสูงยิ่ง เพราะครูบาอาจารย์ทางธรรมคือผู้ชี้ทางที่ไม่ตัน และไม่มีวันตาย เป็นทางสู่ความสุขอันเกษมที่พาให้พ้นบ่วงกรรม และพ้นทุกข์ทั้งปวง
พึงรำลึกถึงพระคุณครูทุกท่านให้มากเถิด ระลึกให้ใจเข้าถึงประโยคอันแสนงดงามนี้ว่า
ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุตฺตรานุสาสกา
ปญฺญาวุฑฺฒิกเรเต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ
ครูบาอาจารย์เป็นผู้มีคุณยิ่ง เป็นผู้พร่ำสอนศิลปวิทยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมครูบาอาจารย์ผู้ให้โอวาทเหล่านั้น
อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล