Skip to content Skip to footer

ตั๊ก-นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์

ความธรรมดาที่ ไม่ธรรมดาของ
ตั๊ก-นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์
จากนักแสดงฝีมือฉกาจ สู่ครูโขน กับ ความฝันสืบสานมรดกนาฏศิลป์ไทย

เมื่อเอ่ยชื่อ ​ตั๊ก​ นภัสรัญชน์​ มิตรธีรโรจน์​เป็นเครื่องรับประกันได้ถึงนักแสดงฝีมือฉกาจ​ และเป็นคู่ชีวิตในอุดมคติของนางเอกตลอดกาลมากฝีมือ​ คุณป๊อก ​ปิยธิดา ​มิตรธีรโรจน์ ​ที่ใครๆ​ต่างชื่นชมในรักแท้ของคนทั้งคู่ที่ยาวนานกว่า ​21 ​ปี​ล่าสุด​วงการบันเทิงก็ได้ดอกเตอร์มาประดับวงการอีกคน ​เมื่อคุณตั๊ก​จบปริญญาเอก​ สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย​ คณะศิลปกรรมศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้​คือ​ คุณตั๊กยังเป็นศิลปินโขนมายาวนานพอๆ​กับเป็นนักแสดง ​จากความอยากรู้อยากเห็นในศิลปะโบราณของไทย ​กลายเป็นความชอบ​ ที่ยิ่งนานวัน​ยิ่งรักจนถอนตัวไม่ขึ้น ​ถึงขนาดไปร่ำเรียนจริงจัง​จนกลายเป็นหนึ่งในหัวหอกในการปลุกปั้นชมรมโขนละครวัดมหาธาตุนาฏยศิลป์ไทย​ ให้เป็นแหล่งเพิ่มพูน​สืบสาน​และต่อยอดความรู้วิชาโขนให้กับเด็กรุ่นใหม่​

เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนของชมรมที่วัดมหาธาตุฯ​ และพูดคุยกับคุณตั๊กในบ่ายวันอาทิตย์วันหนึ่ง ​​สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ ​ความเป็นกันเองและติดดิน​ พลังงานที่ล้นเหลือ​รวมไปถึงความกระตือรือร้นในการถ่ายทอดความรู้แก่เหล่านักเรียนตัวน้อย​​ และยังได้ค้นพบอีกว่า​ กว่าจะมาเป็น ​ตั๊ก ​นภัสรัญชน์ ​ทุกวันนี้นั้นไม่ง่าย ​แต่ละก้าว คือ การค่อยๆ​ย่างอย่างเชื่องช้า​มั่นคง​ และอดทน ​​ต้องขอบคุณการนั่งสมาธิฝึกฝนจิตตั้งแต่วัยเยาว์ที่ช่วยให้เขาได้รู้จักตนเอง ​นำไปสู่การยอมรับและเข้าใจในธรรมชาติของตน​ และนำความเข้าใจนั้นมาเป็นพลังผลักดันให้ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องงาน​ ครอบครัว ​และความรัก

เพราะอะไรถึงต้องเป็นโขน นาฏศิลป์มีหลายแขนง แต่ เพราะอะไรถึงลงเอยที่โขน และทราบมาว่าคุณตั๊กเล่นแต่ ตัวยักษ์ เพราะแค่ตัวเดียวก็มีเรื่องให้เรียนไม่หมดแล้ว

แค่ซ้อมท่าของตัวละครยักษ์ให้ถูกต้อง ​แล้วเวลาปรับใส่ท่าใหม่ๆ ​แล้วต้องซ้อมให้ถูกต้องอีก​ แค่นั้นก็เยอะมากแล้วนะ​ ทุกวันนี้ผมยังต้องทวน ต้องเรียนอยู่เลย​คือ บางทีเราก็ลืม​เราเรียนหลายปีแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ใช้บ่อยๆ ​ก็ลืม​คือ ที่มันยากเพราะว่าแต่ละบท แต่ละตอนของโขน มันมีเรื่องไม่เหมือนกัน​ บทก็ไม่เหมือนกัน​ตัวละครยักษ์ แต่ละตัวก็บุคลิกไม่เหมือนกัน ​แต่ละตัว​บทบาทในแต่ละตอน ​และกับตัวละครอื่นๆ ​ก็ไม่เหมือนกัน​​ตัวละครยักษ์มีตั้งหลายตัว ​นอกเหนือจากตัวพระ ​ตัวนาง​ ตัวลิง

ครูบาอาจารย์สมัยก่อน ท่านสร้างไว้เยอะ​ เขาฝึกกันตลอดชีวิต​และสมัยนั้นมีเวลาเยอะ​เขาตื่นกันตี ​4 – 5 ​ซ้อมแต่เช้า​เสร็จเที่ยงคืน ​ทำทุกวันตลอดชีวิต ​แล้วพอเขามาถ่ายทอดให้เรา ​แล้วบอกว่าเราได้แค่กระผีกเดียว ​ซ้อมแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน​เทียบกันไม่ได้เลยกับครูบาอาจารย์​ พูดแบบนี้คงพอจะเห็นภาพว่า ทำไมแค่คาแรกเตอร์เดียว ถึงต้องเรียนรู้กันตลอดชีวิต ​แต่ผมก็ทำให้ดีที่สุด​ ทำเท่าที่ทำได้​ และสิ่งที่เราอยากทำคือ ​เราอยากดึงคนอื่นให้มาตรงนี้​มาเรียนรู้​ทำให้เขาเห็นว่ามันน่าสนใจ​

ที่ผมสนใจอยากลองเล่นโขน เพราะไม่เคยเล่น​เห็นแล้วมันสวยงาม​ ที่สำคัญคือ​ผมไปเมืองนอกแล้ว พบว่าต่างชาติเขายอมรับศิลปะบ้านเรา ​​ตอนนั้นผมไปเล่นละครเต้นให้กับทีมงานญี่ปุ่นที่กรุงเบอร์ลิน​ ตอนท้ายของการแสดง​คนดูก็ตบมือกัน​ ทางหัวหน้าเขาก็ให้นักแสดงแต่ละคนออกไปโซโล​แสดงความสามารถอะไรก็ได้ที่เป็นของตัวเอง​ ผมเลยถามว่า​ “ของตัวเองเนี่ย​แปลว่าอะไร”​​ ตอนนั้น​เราไม่รู้จักนาฏศิลป์ไทยเลย​รู้สึกอายมาก​​ พอกลับมาก็เริ่มเรียนทุกอย่างที่พอจะเรียนได้​ อะไรก็ได้ที่จะทำให้เข้าใจนาฏศิลป์ไทย​ แล้วเป็นจังหวะที่ ครูเล็ก ​​ภัทราวดี​ มีชูธน ​เริ่มทำละครโขน ​​ตอนนั้นได้เจอครูโขนยักษ์ ​คุณเภตรา​ ศรีวรานนท์​ ครูรำสวยมาก​ ใส่ชุดยักษ์สีขาวเล่นเป็นสหัสเดชะ ​ที่เป็นยักษ์ทวารบาล​ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ ​มีทศกัณฐ์ตนนึง​ สหัสเดชะตนนึง​ ครูเล็ก​ ภัทราวดี ในยุคนั้นปี ​2539 ​ท่านทำสหัสเดชะ​ ผมเลยได้รู้จักตัวละครตัวนี้ ​และขอเริ่มเรียนโขนตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา

จริงๆ​ ตัวผมก็ไม่ใช่ครูที่เก่ง หรือรอบรู้อะไร​ สอนได้บางอย่าง​ตรงนี้ เป็นอารมณ์เดียวกันกับที่ผมมาทำชมรมโขน​ ผมเข้าใจความรู้สึกของเด็กๆ ​ที่อยากเรียน​พ่อแม่ถึงกับมาขอว่า ​เปิดสอนก่อนปิดเทอมเลยได้ไหม ​เพราะลูกๆ​ อยากมาเรียน​อันนี้ดีใจนะ ​เพราะคนมักบอกว่า​โอ๊ย​เด็กสมัยนี้ไม่สนใจพวกนี้หรอก​ อันนี้ไม่จริงเลย​ ผมไม่เคยตะล่อมให้เด็กพวกนี้มาเรียนนะ​ เขาต้องมีภาพของเขามาก่อนในอดีต​ สังเกตดูว่าเขาจะมานั่งดูก่อน ​แล้วก็เริ่มรู้สึกสนุก​ และกลับไปหาข้อมูล ​​ครูเล็ก​ ภัทราวดี สอนผมมาก่อนว่า​ควรจะทำละครให้สนุกได้ยังไง ​เลยมีการปรุงบทเฉพาะกิจสำหรับการแสดงของชมรมวัดมหาธาตุ​ ทำให้เมื่อคุณฝึกแล้วมันจะไม่ยากจนเกินไป จนเรียนรู้ไม่ได้ ​เมื่อสนุกแล้ว​ ถ้ามีแพสชันกับมัน​เรียนต่อเลยครับ​ เพราะมันจะสนุกและเรียนได้ไปเรื่อยๆ​เอง

วันแรกที่เปิดสอนเมื่อ 2 ปีก่อน เทียบกับวันนี้

ก่อนหน้าปีนี้​เคยมีนักเรียนไปถึง ​30 – 40 ​กว่าคน ​แล้วก็หายไป เพราะเป็นช่วงโควิด​ และระบบยังไม่เที่ยง​ จนกระทั่งเป็นชมรม​ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ​เพราะผู้ปกครองกับทีมครูผู้สอนยังไม่ได้มีความร่วมมืออะไรกันเท่าไหร่ ​เรามีผู้ปกครองหลายคน​ ทั้งฝ่ายการตลาด​ ฝ่ายบัญชี​ มาร่วมอาสาช่วยกัน ​​ดังนั้น ผมจึงอยากบอกพ่อแม่ทุกคนว่า​ ให้ลูกได้มาลอง​ให้มาสัมผัสกับครูผู้สอน​กับนักเรียนคนอื่นๆ ​กับบรรยากาศของสถานที่​มันมีความสบายๆ​ และสนุก​ อันนี้แหละเป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้เขาอยากเล่น​ อย่าไปคิดว่ามันยาก​ โขนมันไม่ใช่วิชาเลข​ มันคือการละเล่น ​เล่นไปเรื่อยๆ ​ทำให้เหมือนตรงนี้เป็นสนามเด็กเล่น​ เพราะชมรมนี้เป็นของทุกคน

ความตั้งใจของพวกเราทั้งหมด คือ ​การสร้างคนรุ่นใหม่ ที่ไม่มีใครคิดว่าจะมาสนใจศิลปะโบราณนี้​ ให้มีใจรักโขน ​มันคือมรดกที่ไม่ได้อยากเห็น ​แต่อยากให้​ทิ้งไว้ให้เลย

ก่อนที่จะมีการเรียน เห็นว่านักเรียนต้องนั่งสมาธิก่อนเรียนด้วย

จริงๆ​แล้ว การทำสมาธิเป็นธรรมเนียมปฏิบัติก่อนการแสดงทั่วทั้งโลก ​การนั่งสมาธิ คือ การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก​ และเป็นการกำหนดความรู้ตัว ​ง่วงก็ไม่แปลก​ เพราะแปลว่าจิตเริ่มสงบ​ แต่ก็ไม่เป็นไร​ เพราะเราแค่ต้องตามความรู้สึกให้ทันว่าลมหายใจเป็นอย่างไร ​ร้อนมั้ย ​เย็นมั้ย ​ลมหายใจสั้นหรือยาว ​ประเด็นคือ ในตอนนั้นจิตจะไม่คิดเรื่องอื่น​ ไม่ว่อกแว่ก ​พอจิตนิ่ง ก็เริ่มเห็นอะไรชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ​ลืมตามาปุ๊บ​สิ่งแรกที่เขาเห็น คือโขน​เป็นการละลายพฤติกรรมทางความคิดก่อน​เป็นกุศโลบาย ​​สมัยที่ผมเรียน ​ครูเล็กไม่ได้ให้นั่ง​ แต่ท่านให้รู้จักลมหายใจ

อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 55 สมัครสมาชิก คลิ๊กที่นี่