
เมื่อเจ้าพ่อแห่งปัญญาประดิษฐ์หวาดผวากับผลงานตัวเอง
ในระยะนี้ หัวข้อที่ยอดฮิตของคนทั่วโลกคงหนีไม่พ้นเรื่องของภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพราะหลังจากการเปิดตัวโปรแกรม ChatGPT เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็เกิดเหตุการณ์มีคนนำเอา AI ไปใช้ในทางที่ผิดมากขึ้นเรื่อยๆและยิ่งกว่านั้น การที่ เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) เจ้าพ่อแห่ง AI ลาออกจาก Google ก็ทำให้เกิดคำถามว่าการพัฒนาด้าน AI ของมนุษย์กำลังดำเนินไปถูกทางหรือไม่
ทำให้บรรดาผู้นำด้านเทคโนโลยีนักวิทยาศาสตร์ และนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลก เกือบ 28,000 คน รวมถึงเจฟฟรีย์ ฮินตัน อีลอน มัสก์ และ สตีฟวอซเนียก ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple ได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องให้ “หยุดพัก” การพัฒนาและทดลองระบบสมองกลที่จะมีความสามารถเหนือกว่า GPT-4 ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่และเก่งกาจยิ่งกว่า ChatGPT
การลาออกของเจฟฟรีย์นั้นเป็นการส่งสัญญาณแก่โลกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อันล้ำหน้า อาจนำมาซึ่งมหันตภัยพร้อมเตือนว่ามีแนวโน้มมากว่า AI จะกลายเป็นความเร่งด่วนยิ่งกว่าปัญหาโลกร้อน และเป็นเพราะเขารู้สึกผิดในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา
เจฟฟรีย์ ฮินตัน คือใคร? แล้วทำไมเราจึงต้องสนใจกับคำเตือนของเขาด้วย?
เจฟฟรีย์ ฮินตัน เป็นนักประสาทวิทยาการรับรู้และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ-แคนาดา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านจิตวิทยา การทดลองจากคิงส์คอลเลจแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และระดับปริญญาเอก ด้านปัญญาประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในปี ค.ศ.1978 หลังจากที่ทำงานในมหาวิทยาลัยต่างๆมานานหลายสิบปี ฮินตันได้เข้าร่วมงานกับ Google ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2013 เมื่อ Google ซื้อกิจการบริษัท DNNResearch ของเขา เขาจึงเป็นทั้งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยและเป็นนักวิจัยของบริษัทด้วย
ผลงานอันโดดเด่นของฮินตัน คือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้มีความสามารถระดับใกล้เคียงกับมนุษย์ เขามีประสบการณ์ยาวนานในงานวิจัยและพัฒนาโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) ซึ่งเป็นการสร้างคอมพิวเตอร์ที่จำลองวิธีการทำงานของสมองมนุษย์ ผลงานด้านนี้ทำให้เขาได้รับรางวัล Turing Award ในปี ค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นรางวัลด้านคอมพิวเตอร์เทียบได้กับรางวัลโนเบล
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร MIT Technology Review ว่าความคิดที่ไม่เหมือนใครนี้มาจากพ่อของเขาซึ่งเป็นนักชีววิทยา เขาเชื่อว่าเราสามารถตัดต่อโครงข่ายประสาทเทียมในระบบคอมพิวเตอร์ โดยการสับเปลี่ยนรหัสที่ได้ตั้งไว้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของสมองกล โดยยกตัวอย่างอีกา ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการแก้คำปริศนาโดยใช้เครือข่ายระบบประสาทในสมอง
การลาออกของฮินตัน ส่วนหนึ่งมาจากอายุที่มากขึ้น ปีนี้เขาอายุ 75 ปีแล้ว และเพราะเขาต้องการอิสระในการพูดถึงอันตรายของ AI โดยไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบต่อบริษัท “ผมไม่ได้จะลดความสำคัญของวิกฤตโลกร้อน และก็ไม่ได้อยากจะบอกให้ใครๆเลิกกังวลเรื่องโลกร้อน เพราะนั่นก็เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ แต่สำหรับตอนนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเร่งด่วนกว่าเสียแล้ว” ฮินตันกล่าวเหตุผล เพราะมนุษย์พอจะรู้ว่าทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาโลกร้อน แต่ดูเหมือนไม่มีใครรู้ว่าจะควบคุมเจ้าสมองกลที่แสนฉลาดปราดเปรื่องนี้ได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้ เขามองว่าปัญหาเรื่อง AI มาจากการใช้งานมากกว่าตัวระบบ แต่ตอนนี้เขาเห็นแล้วว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าสมองกลนี้เริ่มจะฉลาดกว่ามนุษย์แล้ว และเชื่อว่าอีกไม่นาน AI จะฉลาดล้ำหน้ามนุษย์ในทุกๆด้านอย่างแน่นอน เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ฮินตันลาออก Google ก็ได้เปิดตัว PaLM 2 ซึ่งเป็นโมเดล AI ด้านภาษาอันสุดล้ำที่นอกเหนือจากการค้นหาข้อมูลการถ่าย และแต่งภาพ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปจนถึงการเขียนจดหมายสมัครงานเพียงแค่พิมพ์คำที่เป็น keyword หรือข้อความสั้นๆ PaLM 2 ก็จะให้คำตอบที่เกือบสมบูรณ์แบบภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที
และที่สุดของความล้ำหน้านี้ก็มีราคาที่เราต้องจ่าย เมื่อหลายปีก่อน ขณะที่ GPS และ Google Maps เปิดตัวก็เป็นที่ฮือฮากันว่า ทั้งสองนวัตกรรมนี้ช่างแสนวิเศษ แต่งานวิจัยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่า การพึ่งพาระบบ GPS และ Google Maps มากเกินไปมีผลเสียหายต่อ “ฮิปโปแคมปัส” (Hippocampus)ซึ่งเป็นสมองส่วนการเรียนรู้และความจำ และเป็นส่วนที่จะเสียหายก่อนเมื่อคนคนนั้นป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ นักประสาทวิทยายังพบว่าการใช้โปรแกรม Siri หรือ Google เป็นประจำ ทำให้การทำงานของสมองที่เกี่ยวกับข้อมูลแย่ลง ส่งผลให้ขั้นตอนการใช้ความคิดถดถอยเพราะเราจะลืมข้อมูลต่างๆ หรือจำไม่ได้ว่าจะหาข้อมูลนั้นได้จากที่ไหน
ยังมีอีกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน นั่นคือนับตั้งแต่ที่มีการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวางการใช้พลังงานไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลไปด้วย จากสถิติในปี ค.ศ.2021 ในการฝึกฝนระบบ GPT-3 ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าถึง 1.287 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือเท่ากับไฟฟ้าที่ใช้สำหรับบ้าน 120 หลัง ในสหรัฐฯเป็นเวลา 1 ปี หรือเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 502 ตัน และจากค่าไฟฟ้าของ Google แสดงให้เห็นว่า 10-15% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมดมาจากการใช้งาน AI ซึ่งคือ 2.3 เทราวัตต์ชั่วโมงต่อปี เท่ากับปริมาณไฟฟ้าที่บ้านทุกหลังในพื้นที่ขนาดเท่ากับเมืองแอตแลนตาใช้รวมกันทั้งหมด เพียงแค่การฝึกสอน AI ครั้งเดียวก็ใช้ไฟฟ้ามากกว่าบ้านนับร้อยหลังในสหรัฐฯใช้รวมกันใน 1 ปีแล้ว
แม้ว่าเจ้า AI จะสะท้อนให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับมวลมนุษยชาติ คำถามของมนุษย์นับจากนี้ คือจะนำเทคโนโลยีมาสร้างความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตอย่างไร โดยที่สุขภาพกายและใจจะยังคงความเป็นปกติและสมดุลอยู่ได้