เพราะศิลปะไม่เพียงสร้างความผ่อนคลายและเพลิดเพลินใจให้ทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้ชื่นชม แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นและสามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้ ArtMode ฉบับแรกของปี จึงอยากพาไปชมผลงานฮีลใจในนิทรรศการ ”HEALINGLIGHT” ”แสงแห่งการเยียวยา” ผลงานโดย นิชา วิบูลย์พจน์ (NichaWiboonpote) และดร.ญาณิศา เนียรนาทตระกูล (Dr.Yanisa Niennattrakul) ที่นำเสนอผ่านเทคนิคการปัก (embroidery) และภาพพิมพ์จากแสงแดด (cyanotype) ด้วยการสำรวจแนวคิดและการตีความของ ‘แสง’ ในหลายแง่มุม นัยหนึ่งสื่อถึงความอ่อนโยนละเมียดละไมท่ามกลางความวุ่นวายของโลกภายนอก อีกนัยหนึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะและงานคราฟต์ในมุมของการไตร่ตรอง สะท้อนตัวเองและท้ายที่สุดคือ แสงที่ส่องให้ได้ค้นพบและเยียวยาโลกภายในใจ
THE EMBROIDERED ARTWORK
ผลงานภาพปักของ นิชา วิบูลย์พจน์ เริ่มต้นขึ้นจากการทำเป็นงานอดิเรก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความชื่นชอบในสถาปัตยกรรมไทย ที่มีรายละเอียดงดงามและเป็นเอกลักษณ์ ใช้เทคนิคการปักลงบนวัสดุต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ผ้าแคนวาส ผ้าโปร่ง ผ้าสักหลาด จนไปถึงการปักลงแผ่นอะคริลิก ที่เจาะลายด้วยเลเซอร์ เมื่อมีแสงส่องผ่านยิ่งทำให้เกิดมิติและมองเห็นรายละเอียดชัดขึ้น ผ่านเงาสะท้อนเช่นภาพพระปรางค์วัดอรุณ ที่มองเห็นงานปักทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ในขณะเดียวกันเบื้องหลังผลงานที่แท้จริง คือการได้อยู่กับปัจจุบันโฟกัสกับรายละเอียดของเส้นด้ายและการได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง
นิชา วิบูลย์พจน์ – นักปักที่ชอบกระบวนการและจังหวะในการปัก สนใจ สถาปัตยกรรมไทย มีความพยายามในการผสมผสานงานปักเข้ากับสื่อต่างๆ ตั้งโปรเจค IG: nextyeariwill เพราะว่ามีสิ่งที่อยากทำในปีหน้าเสมอ
THE SUN-PRINTED IMAGES
ภาพพิมพ์จากแสงแดดของดร.ญาณิศา เนียรนาท ตระกูลถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำและประสบการณ์ จากการทำวิจัยเกี่ยวกับภาวะความจำเสื่อมเรียงร้อยผ่าน แต่ละช่วงเวลา แต่ละเหตุการณ์เป็นการเดินทางสู่การค้นพบและเข้าใจตัวเอ งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจผู้อื่น เทคนิคการพิมพ์ภาพด้วยแสงแดดนั้นคล้ายกระบวนการอัดรูปในยุคแรกๆของการถ่ายภาพทำให้เกิดลวดลายธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้เช่นเดียวกับบางจังหวะของชีวิตที่เมื่อต้องพบกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้สิ่งเดียวที่ทำได้คือ การยอมรับและปล่อยวาง
ดร.ญาณิศา เนียรนาทตระกูล – เป็นนักวิจัยอิสระ นักทดลอง อาจารย์พิเศษ และ ผู้ประกอบการสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ โดยเป้าหมายหลักคือการออกแบบสภาพแวดล้อมจากการเรียนรู้และทำความเข้าใจประสาทสัมผัสอันซับซ้อนของมนุษย์
อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 55 สมัครสมาชิก คลิ๊กที่นี่