
หญิงแกร่ง ผู้ชักม่านมังกรทอง
ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ชิง อันถือเป็นการสุดสิ้นระบอบการปกครองแบบจักรพรรดิที่สืบทอดมายาวนานหลายพันปีของจีน กลายเป็นโอกาสให้บรรดา “นักเดินเบี้ย” คือ นักคิด ทหาร นักการเมือง วางหมากอำนาจ ขัดกันยุ่งเหยิง พร้อมๆ กับเป็น “ยุคทอง” ที่ทำให้โลกได้รู้จักตัวละครสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ จากลุ่มอารยธรรมมังกรจำนวนมาก ในสถานการณ์นั้น บทบาทของสตรียิ่งถูกจำกัดขึ้นไปอีก แต่ไม่ใช่สำหรับ ซ่งเหม่ยหลิง อดีตภริยาของเจียงไคเช็กผู้นำประเทศจีนและประธานาธิบดีไต้หวัน หญิงกล้าผู้ใช้โอกาสของสถานะที่ตนมีสร้างความเจริญให้กับพี่น้องร่วมชาติ ด้วยความสามารถที่หลากหลาย โดยเฉพาะการต่างประเทศ การเจรจาต่อรอง และการทำงานคลุกคลีกับสังคมฐานราก
ซ่งเหม่ยหลิง หรือที่รู้จักในนาม “มาดามเจียงไคเช็ก” เกิดเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1898 โดยเป็นบุตรสาวคนสุดท้อง ของตระกูลซ่ง อันเป็นครอบครัวโปรเตสแตนต์ที่มั่งคั่งในเมืองเซี่ยงไฮ้ จากการถืออาชีพนักธุรกิจของบิดา เหม่ยหลิงได้รับการส่งเสียการศึกษาระดับสูงจากสถาบันชั้นนำ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่นเดียวกับพี่สาวทั้งสอง คือ ซ่งอ้ายหลิง (ภริยาของคงเสียงซี นักการเงินที่สนับสนุนรัฐบาลก๊กมินตั๋งในด้านเงินทุนและการคุ้มภัยทางการเมือง) กับ ซ่งฉิ่งหลิง (ภริยาของซุนยัตเซ็น บิดาแห่งการปฏิวัติประชาธิปไตยจีน จนก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สำเร็จ แม้ภายหลังจะเผชิญความขัดแย้งจากจุดยืนทางการเมืองต่อพี่สาวและน้องสาว)
ซ่งเหม่ยหลิงได้เข้ารับการศึกษาจากวิทยาลัยเวสลีย์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ที่เป็นจุดบ่มเพาะความ เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมแบบตะวันตก ซึ่งต่อมาเธอได้ใช้ประโยชน์จากความรู้เท่าทันทางการทูตและวิธีสร้างสัมพันธ์กับต่างชาติ อย่างการเป็นตัวแทนคณะมนตรีความมั่นคงจีน นำเข้าวาระนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติที่จัดทำโดยรัฐบาลก๊กมินตั๋งให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และ ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสนับสนุนจีนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ด้วยวาทศิลป์และปฏิภาณอันเลิศ โดยเฉพาะการขึ้นกล่าวปาฐกถาในวงประชุมสามัญสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 1958 ยิ่งปลุกกระแสนิยมและชื่อเสียงของเธอจนเป็นที่กล่าวถึงทั่วโลก ในฐานะสตรีผู้สามารถสร้างความแตกต่างจากผู้หญิงแถวหน้าในยุคเดียวกัน
ในปี ค.ศ. 1927 เมื่อซ่งเหม่ยหลิงแต่งงานกับเจียงไคเช็ก ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง เธอกลายเป็นสุภาพสตรี หมายเลขหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งเธอได้ใช้บทบาทนี้ในการสนับสนุนสามีและเพิ่มการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เช่น กิจการสภากาชาดจีน, UNICEF relief, New Life Movement (ขบวนการส่งเสริมพฤติการณ์และคุณธรรม) และองค์กรพิทักษ์สิทธิสตรีจีน
เวลาต่อมา เธอต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาสงครามกลางเมืองจีน และโยกย้ายไปไต้หวันในปี ค.ศ. 1949 หลังการล่ม สลายของรัฐบาลก๊กมินตั๋งในแผ่นดินใหญ่ และกลายเป็นหัวหอกในการส่งเสริมการพัฒนารากฐานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความมั่นคงในไต้หวัน
ตลอดชีวิตของเธอ ซ่งเหม่ยหลิงได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความสามารถของผู้หญิงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำหน้าที่ภายในบ้าน หรือเป็นเพียงตัวเสริมในชีวิตของผู้ชาย เพราะในหลายครั้ง หน้าประวัติศาสตร์ย่อมจดจำผู้หญิงว่า พวกเธอคือผู้กุมชะตาประเทศตัวจริง เธอเสียชีวิตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 ด้วยวัย 105 ปี ณ มหานครนิวยอร์ก คงไว้เพียง อนุสรณ์ แห่งความทุ่มเทเพื่อสังคมและเพื่อนร่วมชาติ