Skip to content Skip to footer

ปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่น่ากังวลทางเศรษฐกิจ

ในปี 2567 นี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย‘อย่างสมบูรณ์’ คือมีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไป 20% และ 65 ปีขึ้นไป 14% หมายความอย่างง่ายว่า ก่อนหน้านี้เราเป็นสังคมผู้สูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 แต่สัดส่วนของคนอายุ 65 ปี เพิ่งจะมาแตะเลข 14% ตามเกณฑ์ในปีนี้

คนที่มองเห็นโอกาสก็จะเห็นจากข้อมูลว่า ผู้สูงวัยมี“กำลังซื้อ” มากกว่าเด็ก ดังนั้น ตลาดของการขายของและบริการให้ผู้สูงวัยจึงเป็นตลาดที่อยู่ในช่วงที่เติบโตได้ แต่ปัญหาคือผู้สูงวัยของไทยนั้นมีเงินเก็บเงินออมเพื่อใช้น้อยกว่าที่ต้องการมาก และประสิทธิภาพของการทำงานลดลง รายจ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้โดยส่วนใหญ่ของผู้สูงวัยในประเทศต้องพึ่งพิงรายได้จากลูกหลานมากกว่าปรกติ

ดังนั้นในการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น กำลังซื้อของผู้สูงวัยที่มากขึ้นจะถูกหักออกด้วยกำลังซื้อของคนวัยทำงานที่ลดลง และปัญหาในอนาคตที่เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ส่งผลมาก คือ รายจ่ายของคนทำงานมากขึ้น เงินเก็บเพื่ออนาคตลดลง และ ไม่อยากมีลูกเพราะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายไม่ไหว ทำให้อัตราการเกิด แรงงานของประเทศ และภาษีที่รัฐพึงเก็บได้ในอนาคตลดลงในที่สุด

อันนี้เป็นเรื่องแรกและเรื่องหลักที่คนวัยทำงานต้องรู้และเตรียมตัว ทั้งในเรื่องการวางแผนการหาและใช้เงิน การดูแล สุขภาพ และการทำประกัน อีกทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและช่องทางการหารายได้ของตัวเอง ส่วนผู้สูงอายุก็ต้องระวังการใช้จ่ายและดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพื่อจะช่วยเหลือตัวเองได้ หรืออย่างดีก็ทำให้ตัวเองยังสามารถทำงานมีรายได้ได้อยู่

ฟังดูโหดร้ายสำหรับชีวิต แต่ก็ไม่ได้มีทางเลือกอื่นเท่าไหร่นักนะครับ…

แนวโน้มอีกอย่างที่น่าสนใจของตลาดโลกคือ ประเทศที่เป็นผู้บริโภคใหญ่อย่างจีนเริ่มมีค่านิยมใหม่ คือ “แข่งกัน ประหยัด แข่งกันไม่ใช้จ่าย” ซึ่งแนวโน้มนี้จะทำให้อนาคตอันใกล้จะเกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจ อีกทั้งจะเป็นภัยต่อผู้ประกอบการนอกประเทศจีน เนื่องจากก่อนหน้านี้ตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ การผลิตสินค้าที่ได้จำนวนเยอะๆ ทำให้ ผู้ผลิตจีนได้เปรียบด้านต้นทุน ซึ่งวงจรนี้จะดำเนินต่อไปได้ ต่อเมื่อมีการซื้อของจับจ่ายที่ขนาดใหญ่มากพอ

ถ้ากำลังซื้อในประเทศจีนชะลอลง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ หาตลาดส่งออกของที่ผลิตให้ได้ โดยใช้ทั้งการหั่นราคาสินค้า และการย้ายโรงงานออกมานอกประเทศ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด คือ ราคาสินค้าเฉลี่ยลดลง กำไรต่อหน่วยลดลง ทำให้ราคาหุ้นต้องลดลงตามความสามารถของการทำกำไร ส่งผลต่อความมั่งคั่งของชนชั้นกลางขึ้นไปด้วย และอีกเรื่องคือ ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยเองอยู่ยากและสู้ไม่ได้ เพราะจีนมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนและการสนับสนุนจากภาครัฐมากกว่า ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะทำให้การจ้างงานในประเทศลดลงอย่างแน่นอน

นี่จึงเป็นสองเหตุการณ์ใหญ่ๆที่เราน่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือเพื่อให้เจ็บตัวน้อยที่สุด หรือ หาโอกาสจากสถานการณ์ให้ได้มากที่สุดครับ

จึงเรียนมาเพื่อให้ทุกท่านทราบ ด้วยความปรารถนาดีอย่างถึงที่สุด

อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 59 สมัครสมาชิก คลิ๊กที่นี่

สำหรับลูกค้าในประเทศ

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่นี่