Skip to content Skip to footer

กรรมของพระอริยเจ้า

ครานี้จะกล่าวถึงเรื่องกรรมบ้าง…

เป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนมากว่า เมื่อบรรลุธรรมแล้วจะไม่ต้องรับผลกรรม ในความจริงนั้นแม้บรรลุแล้วก็ยังต้องรับผลกรรม ไปจนถึงเศษกรรมที่ยังมาสนองไม่หมด แต่เมื่อละสังขารแล้ว จึงไม่มีกรรมอะไรมาสนองได้อีกแล้ว เพราะหมดสิ้นขันธ์ห้าที่จะต้องมาเป็นเครื่องรองรับกรรม เพราะสิ้นสังขารการปรุงแต่งแล้ว ดังนั้นแม้แต่พระบรมศาสดาผู้ทรงพุทธบารมีสูงส่งยังต้องใช้เศษกรรมที่ทรงเคยกระทำมาแต่อดีต พระอริยสงฆ์หรืออริยบุคคลก็เช่นกัน วันใดวันหนึ่ง กรรมที่เคยกระทำไว้ย่อมส่งผล เราจะหวังแต่กรรมดีไม่ได้ ต้องมีใจพร้อมยอมรับกรรมเก่าด้วย

เวลากรรมเก่ามาสนองผลกับอริยสงฆ์นั้น หากเป็นกรรมต่อร่างกาย ท่านก็จะได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสเช่นเดียวกับปุถุชน หาใช่ว่าเวลาประสบกรรมจะไม่เจ็บ หากเป็นกรรมที่ส่งผลต่อความรู้สึก ท่านก็จะมีช่วงเวลาแห่งความรู้สึกทุกข์ทรมานใจเช่นกัน มิใช่ว่าจะไม่รู้สึกรู้สา แต่ความต่างจากปุถุชนคือ ไม่ว่ากรรมจะสนองผลให้ทุกข์เพียงใด ท่านก็จะยืนหยัดขึ้นมาได้ จะวางลงได้อย่างเด็ดขาด พระอริยเจ้าขั้นสูงจะมีกระแสพระรัตนตรัยคอยโอบอุ้มไม่ให้จมดิ่งลงไปเช่นปุถุชน เพราะด้วยจิตที่เป็นสมบัติของโลกุตระแล้ว โลกตุระย่อมส่งกระแสหรือพลังมาประคองกำลังกายและกำลังจิตในทุกวิถีทาง เพื่อรักษาสมบัติโลกุตระให้เป็นผู้ที่จะเข้าถึงมรรคผลนิพพานแน่นอน

อย่าคิดว่าพอได้ความเป็นอริยบุคคลแล้วจะไม่ทุกข์ เป็นมนุษย์ก็ต้องทุกข์ทั้งนั้นหากยังมีกรรมให้ต้องชดใช้ เวลาเจ็บป่วยก็เจียนตายเหมือนกัน มีอะไรมากระทบใจก็เกือบเสียศูนย์ได้

ในฐานะวิปัสสนาจารย์ อาจารย์เคยได้เห็นพลังการโอบอุ้มของคุณพระศรีรัตนตรัย โดยวันหนึ่ง ในมิติทิพย์รู้สึกว่าทุกข์พุ่งมาถาโถม วันนั้นรู้ว่าหากไม่รอดครานี้กำลังใจคงล้ม ไม่สามารถฟื้นกำลังใจขึ้นมาทำสิ่งอื่นๆ ได้อีกพักใหญ่ เมื่อได้ตั้งจิตอย่างแรงกล้า อธิษฐานถึงบุญบารมีที่บำเพ็ญมา และอธิษฐานถึงรัตนบารมีให้ช่วยให้ผ่านเรื่องร้ายที่ประสบซ้ำแล้วซ้ำอีกไปได้ ในเช้ามืดของวันรุ่งขึ้นก็ได้เห็นพระพุทธรูปที่ใหญ่มากปรากฏ เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นในจิต ทอดพระเนตรลงมาและตามด้วยร่มที่กางมาปกป้องคุ้มภัยให้ จากนั้นมาสถานการณ์ที่ย่ำแย่ก็พลิกผันอย่างไม่น่าเชื่อ

เห็นดังนี้ก็ให้ซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมศาสดายิ่งนัก ประจักษ์แน่นยิ่งขึ้นไปอีกว่า ทุกคำสวดมนต์ ทุกคำอธิษฐาน หรือแม้แต่การร้องขอที่อ้างถึงบุญเดิมและขอพุทธบารมีเกื้อหนุน ไม่มีเลยที่เบื้องบนจะไม่ได้ยิน ยิ่งผู้อธิษฐานมีจิตบริสุทธิ์ เชื่อมกระแสกับโลกุตรธรรมจนแนบแน่น คำร้องขอนั้น ก็เหมือนกับการส่งเสียงผ่านลำโพงขนาดใหญ่ สะท้อนสะเทือนไปทั่วพิภพ จนพระบรมศาสดาและคุณพระศรีรัตนตรัยต้องส่งกำลังประคองให้

เบื้องบนนั้นทรงตระหนักว่า การกระโจนอยู่ท่ามกลาง ความมืดบอดที่หนาแน่นแข็งแกร่งจนเป็นแผ่นเหล็ก ผู้ที่มี ปณิธานในการทำความดีอันทำได้ยากต้องประสบอุปสรรคอันใหญ่หลวง และหากกำลังถูกสมทบด้วยวิบากเก่า ก็ยากที่จะยืนอยู่ได้หากบารมีไม่เพียงพอ ดังนั้นผู้ใดที่ตั้งจิตอุทิศทำความดีเพื่อพระศาสนา จึงมักจะประสบเหตุหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกท้อถอย อยากถอดใจ หากติดกับดักก็จะผ่านด่านทดสอบไปไม่ได้ แต่หากหนักแน่นในปณิธาน มุ่งมั่นในความดีก็จะผ่านได้ ทั้งยังเกิดเป็นบารมีอีกด้วย

ทำไมคุณพระศรีรัตนตรัยไม่พุ่งมาโอบอุ้มเสียแต่ทีแรก ทำไมต้องรอให้จวนเจียนจะล้มแล้วจึงค่อยมา อันนี้เข้าใจ ด้วยจิตว่าเกิดจากเหตุ 2 ประการ

ประการที่ 1 หากบุคคลกำลังเสวยวิบากกรรมเก่าอยู่ ก็ต้องให้เขาใช้กรรมนั้นก่อนพอประมาณ ขึ้นชื่อว่ากรรมก็จะส่งผล ให้เกิดความทุกข์ทั้งทางกายและใจ กระแสกรรมเวลามาเสวยนั้น ก็เหมือนพายุทรายสีดำที่โถมมาอย่างรุนแรง ระลอกแล้วระลอกเล่า บุคคลต้องได้รับความทุกข์ให้สมควรแก่เหตุที่ทำผู้อื่นไว้ก่อน จึงจะเรียกว่า เสวยกรรม การไปแทรกแซงกรรมเป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมต่อเจ้ากรรมนายเวรและต่อธรรมะ

บางครั้งแม้กรรมไม่หนักมาก แต่ก็ต้องให้บุคคลผ่านบททดสอบให้ได้ เป็นการทดสอบกำลังใจให้เกิดเป็นบารมี หาก ประสบปัญหาเพียงน้อยแล้วรีบโอบอุ้มเหมือนกลัวจะระคายเคืองผิว ก็ไม่มีทางที่จะได้บารมี แต่จงเชื่อเถิดว่า คุณพระศรีรัตนตรัย พระอรหันต์เจ้าที่คอยสอดส่องผู้ที่กำลังบำเพ็ญบารมี ท่านใช้กระแสจิตจ้องตาแทบไม่กระพริบ หากเห็นว่าจะพลาดขึ้นมาเมื่อไหร่ ท่านจะส่งพลังพุ่งมาปกปักรักษาทันที

ดังนั้นต้องไม่ท้อถอยกับกรรม ทำกรรมอะไรไว้ เราหนีพ้นผลกรรมไม่ได้เลย กรรมจะมาสะท้อนในเวลาใดเวลาหนึ่ง หากเป็นผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กรรมจะสลายเร็ว และน้ำหนักกรรมจะเบาลงไปมาก โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนาสติปัฏฐานสี่ เพียรเผากิเลส ในแนวทางของโพธิธรรมญาณเตชะชัยสิทธิ เป็นการเผาสังขารและเผาบาปที่ฝังมากับกับสังขารด้วย จึงทำให้วิบากบางลงในระดับที่รับมือได้ แต่มิใช่ว่าไม่ทุกข์

หลวงปู่เจี๊ยะเมตตาเล่าถึงสาเหตุที่ต้องได้ทำการผ่าตัด หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท นอนแกร่วเป็น อัมพาตว่า..

“ตอนเป็นหนุ่ม เราเลี้ยงหมูไว้แยะ ต้มข้าวเอาไปวางให้หมู หมามันมากินหมด โมโหจัด จึงเอาไม้คานเจ๊กตีหมาโป้ง เดียวจอดสลบ ด้วยความที่โกรธจัด แม้หมาตัวนั้นจะนอนแน่นิ่งเหมือนตายแล้ว ก็คงเอาไม้คานตีอยู่อย่างนั้น ตีจนกระทั่งมันฟื้นขึ้นมาอีก ฟื้นขึ้นมาตีซ้ำลงอีกแบบทารุณไร้เมตตาธรรม คราวนี้ หมามันชักตาย… เสร็จเลย กรรมอันนี้แหละเป็นกรรมในปัจจุบัน ชาติที่เราต้องชดใช้”

แม้แต่กรรมจากเรื่องในอดีตที่ได้ยินมา พระภิกษุนามว่า ติสสะ ท่านเป็นแผลเปื่อยพุพองรักษาไม่หาย พระพุทธเจ้ากับ พระอานนท์เสด็จไปช่วยดูแลให้อาบน้ำอุ่น ทรงแสดงธรรมให้ฟังพระติสสะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับนิพพานในวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ที่เป็นแผลพุพองนั้นเพราะชาติก่อนพระติสสะเป็นพรานนก จับนกขายเป็นอาหาร ที่เหลือก็หักปีกหักขาไว้เพื่อไม่ให้มันบินหนี

ในยุคของการบูลลี่ด้วยวาจาที่ทำให้คนถูกด่าว่าล้มทั้งยืน กรรมจะส่งผลให้คนทำล้มทั้งยืน เป็นการล้มชนิดล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่มีแรงจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ และจะเป็นผู้ล้มเหลวอย่างยาวนานจนรู้สึกทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส และเป็นที่รังเกียจของสังคม ยิ่งบุคคลที่ไปบูลลี่ผู้มีธรรมสูงเท่าไหร่ ผลกรรมก็จะรุนแรงมากไปจนถึงตกนรก

หากบุคคลผู้ถือว่าปิดอบายได้แล้ว แต่ปล่อยให้กิเลสเข้าครอบงำ ใช้วาจาจาบจ้วงผู้ทรงศีลทรงธรรม ทำให้ท่านท้อถอย สิ้นกำลังใจ ผลกรรมจะส่งผลให้เขาป่วยแบบหาสาเหตุไม่ได้ ทำให้ป่วยนอนติดเตียงเป็นเวลานับเดือน แม้ยาอะไรก็รักษาไม่ได้ ต้องรู้สึกสูญสิ้นทั้งกำลังกายและกำลังใจ เกิดเป็นความทุกข์ใจอันสาหัส จนกว่าวิบากจะบางลงแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติ สิ่งที่พอเยียวยาได้คือการขอขมาด้วยความสำนึกผิดอย่างแท้จริง และบำเพ็ญบุญเพื่อชดใช้เท่านั้น

สิ่งที่ก่อให้เกิดเป็นกรรมก็เพราะอุปกิเลส 16 ประการ ที่ เมื่อครอบงำจิตใจผู้ใดแล้วก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทำในสิ่งที่ ตนต้องมาเสียใจภายหลัง และต้องใช้วิบากอันท่านแสดงไว้ 16 ประการคือ 1. ความเพ่งเล็งอยากได้ไม่เลือกที่ 2. ความพยาบาท 3. ความโกรธ 4. ความผูกใจเจ็บ 5. ความลบหลู่บุญคุณ 6. ความตีเสมอ 7. ความริษยา 8. ความตระหนี่ 9. ความเจ้าเล่ห์ 10. ความโอ้อวด 11. ความหัวดื้อถือรั้น 12. ความแข่งดี 13. ความถือตัว 14. ความดูหมิ่น 15. ความมัวเมา 16. ความประมาทเลินเล่อ

การประพฤติปฏิบัติธรรมให้ตั้งอยู่ในกุศลกรรมบท 10 ประการ ก็จะช่วยคุ้มกันไม่ให้ต้องประสบภัยเวรทั้งปวง กุศล กรรมบท 10 ประการได้แก่ กายกรรม 3 คือ 1.เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ล่วงตก 2. เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ 3. เว้นจากการผิดในกามทั้งหลาย วจีกรรม 4 คือ 1. เว้นจากการพูดเท็จ 2. เว้นจากการพูดส่อเสียด 3. เว้นจากการพูดคำหยาบ 4. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ มโนกรรม 3 คือ 1. ไม่โลภ เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น 2. ไม่พยาบาทปองร้าย 3. มี “สัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นชอบ เห็นตรงตามคลองธรรม

ไม่ว่าจะปุถุชน หรืออริยชนขั้นต้นและขั้นกลาง หากไม่คุ้มใจให้พ้นจากอุปกิเลส 16 ประการ และประมาทในอกุศลกรรม เวลากรรมสนองผลก็จะต้องพบกับความทุกข์ทรมานใจไม่มีประมาณ มนุษย์นั้นช่างประมาทเหลือเกิน ใช้ชีวิตตามแรงกิเลสตัณหา ปล่อยให้กิเลสครอบงำจนสะสมเชื้อไฟแห่งความทุกข์ให้ตนอย่างไม่มีจบสิ้น คิดแต่อยากจะได้ผลบุญ แต่กลับไม่หยุดทำบาป หากพิจารณาด้วยดี ประกอบกับจิตที่มีความละอายชั่ว กลัวบาป เราก็จะพ้นจากการสร้างบาปใหม่ และจะเป็นผู้ที่ได้รับกุศลผลบุญมาสนองต่อเนื่องจนสิ้นกรรม

ดังนี้ ขอจงเป็นผู้ไม่ประมาทต่อกิเลสและต่อการก่อกรรมทั้งปวง

อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 60 สมัครสมาชิก คลิ๊กที่นี่

สำหรับลูกค้าในประเทศ

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่นี่